Climate Risk Disclosure คืออะไร ทำไมบริษัทระดับโลกต้องทำ?

Climate Risk Disclosure คืออะไร ทำไมบริษัทระดับโลกต้องทำ?
Climate Risk Disclosure คืออะไร ทำไมบริษัทระดับโลกต้องทำ? | Carbonwize

เมื่อ ‘ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ’ กลายเป็น ‘ความเสี่ยงใหม่’ ในการทำธุรกิจ


หากย้อนกับไปสักประมาณ 10 - 20 ปีก่อนหน้านี้ อาจพูดได้ว่าปัจจัยเสี่ยงในการทำธุรกิจมีอยู่ 5-6 ด้าน หลักๆ แล้วแต่ตำราของแต่ละองค์กรว่าจะพิจารณาความเสี่ยงไหนบ้าง ความเสี่ยงที่ว่าตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงด้านการเงิน ด้านกลยุทธ์ ด้านประกอบกิจการ ด้านเทคโนโลยี ด้านกฎระเบียบ และด้านปัจจัยภายนอก แต่ปัจจุบันมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ ปัจจัยความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Risk

โดย Climate Risk แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

Physical Risk ความเสี่ยงทางกายภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ความเสียหายต่อทรัพย์สิน อย่างเช่น น้ำท่วมโรงงาน แรงงานต้องย้ายถิ่นเนื่องจากเกิดไฟป่า หรือต้องปิดโรงงานเพราะ supplier มีปัญหา อย่างครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นตอนที่น้ำท่วมครั้งใหญ่ของไทย ในปี 2011 ที่บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อยู่ในประเทศไทยต้องหยุดดำเนินการ ทำให้สาขาอื่นในต่างประเทศออกประกาศหยุดตามจนกว่าโรงงานในประเทศไทยจะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง
Transition Risk ความเสี่ยงด้านนโยบายและกฎหมาย เช่น การออกกฎหมายภาษีคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านพลังงาน เมื่อโลกไม่สามารถรับมือกับก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกปล่อยออกมาได้แล้วในอีก 2 ปีข้างหน้า  ทำให้อุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยคาร์บอนสูงถูกเพ่งเล็งเป็นกลุ่มแรก การออกนโยบายเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึง ความเสี่ยงด้านตลาดและเศรษฐกิจด้วย

ก่อนหน้านี้หน่วยงานกับกำดูแลของ Wall Street เคยออกมาเผยว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินต่อบริษัทต่างๆ” และ รายงาน Economist Intelligence Unit ก็เผยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจสร้างความเสียหายมากถึง 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 154 ล้านล้านบาท) จากสินทรัพย์ทั้งหมดทั่วโลกภายในศตวรรษนี้ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจึงไม่ใช่แค่เรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้นหรือลดลงเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นความเสี่ยงที่สามารถสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจได้ด้วย

รายงานของคณะกรรมการเศรษฐกิจร่วมพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ พบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปกับอสังหารริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า มีตัวเลขสูงถึง 3.94 - 8.93 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี (14 - 32 ล้านล้านบาทต่อปี)  และอาจไม่ต้องดูที่ไหนไกล ย้อนกลับไปในครั้งที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบ 5 ทศวรรษ เมื่อปี 2011 ซึ่ง Risk Management Mornitor ได้รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมใหญ่ที่บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Toyota ที่มีฐานการผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยคาดการณ์ว่าสูญเสียกำไรไปกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.83 แสนล้านบาท) ในช่วงนั้น และส่งผลให้ทำให้ Supply Chain อื่นต้องหยุดชะงัก ลามไปถึงโรงงานโตโยต้าในรัฐอินเดียน่า เคนตักกี้ และออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ที่ประกาศว่าจะปิดตัวลงจนกว่าสถานการณ์ในประเทศไทยจะดีขึ้น

หรืออย่าง Ford ที่มีรายงานว่าเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทย ทำให้ฟอร์ดต้องลดการผลิตในไตรมาสที่ 4 ลงกว่า 17,000 คัน เพราะติดปัญหาซัพพลายเออร์ ส่วนบริษัทญี่ปุ่นอีกเจ้าอย่าง Canon เองก็มีรายงานออกมาว่า ยอดขายและกำไรจากการดำเนินงานลดลง 5 หมื่นล้านเยน (1.15 หมื่นล้านบาท) และ 2 หมื่นล้านเยน (4,600 ล้านบาท) ในไตรมาสที่สี่

รวมแล้วมีการประเมินตัวเลขจาก World Bank ออกมาว่าประเทศไทยเสียหายและสูญเสียจากน้ำท่วมในครั้งนั้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.43 ล้านล้านบาท) (รูปตาราง)

ตารางแสดงความเสียหาย และความสูญเสียรายอุตสาหกรรม (หน่วยล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่มา ERIA

หรืออีกเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ น้ำท่วมจากพายุครั้งใหญ่ในเมืองทะเลทรายอย่างดูไบ ที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจอสังหาฯ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ในธุรกิจในสายการเงิน อย่างธุรกิจประกันภัยก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน มีบริษัทนายหน้าประกันภัยเจ้าหนึ่งออกมาเผยว่า น้ำท่วมระหว่างวันที่ 14-17 เมษายน ที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้ประกันตนสูญเสียเงินสูงสุดถึง 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.11 หมื่นล้านบาท) หรือด้านประกันรถยนต์มีแนวโน้มที่จะสูญเสียเกิน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.47 พันล้านบาท)

นักลงทุนเลือกบริษัทที่มีแผนรับมือโลกรวน หลายประเทศระบุบริษัทต้องทำ Climate Risk Disclosure


ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนำมาสู่การสูญเสียซึ่งเม็ดเงินมหาศาล คิดง่ายๆ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในบริษัทที่รายล้อมไปด้วยความเสี่ยง ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ฝนตกหนัก พายุ หรือ ไฟป่า แค่ 4- 5 อย่างที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณจะเลือกลงทุนแบบเดิมหรือไม่ หรือจะเลือกลงทุนอย่างไร นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดถึง Climate Risk Disclosure หรือ การเปิดเผยความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ที่องค์กรต่างๆ เช่น บริษัท ธนาคาร และสถาบันการเงิน ต้องจัดทำข้อมูลหรือรายงานเพื่อให้นักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นสามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิ่งแวดล้อมและการเงินของบริษัทนั้นๆ และสร้างความเชื่อมั่นในการตัดสินใจลงทุน

ตัวอย่างเช่น บริษัทต้องเปิดเผย Carbon Footprint ของตนเอง ว่าจากการดำเนินการธุรกิจจะสร้าง ก๊าซเรือนกระจก มากน้อยเท่าไร จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเมื่อได้รับผลกระทบของสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น น้ำท่วมหรือภัยแล้งจะส่งผลเสียอย่างไรต่อธุรกิจนั้นบ้างไปจนถึงมีแผนอย่างไร และจะทำอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

อย่างในสหรัฐอเมริกาถึงขั้นออกเป็นพระราชบัญญัติการเปิดเผยความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศออกมาเพื่อบังคับภาคธุรกิจ และล่าสุดวันที่ 1 พฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมานี้เอง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา หรือ SEC ได้ลงมติกำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในการจดทะเบียนบริษัท และระบุในรายงานประจำปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเผชิญกับความท้าทายต่อภาคธุรกิจที่ต้องการเวลาปรับตัว และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นมาสักระยะ

ซึ่งไม่ได้มีแค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น หลายประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทในกลุ่มประเทศ OECD ต้องมีการทำ Climate Risk Disclosure ทางฝั่ง EU เองก็มีการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ถึงขั้นให้ธนาคารรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทที่ธนาคารเหล่านั้นให้กู้ยืมด้วย

นอกจากนี้ ในระดับระหว่างประเทศก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศที่ทำงานเกี่ยวกับมาตรฐานที่จะนำไปใช้นอกยุโรปด้วย ภายใต้การดูแลของมูลนิธิ IFRS องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่รับผิดชอบในการพัฒนามาตรฐานการบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนระดับโลก โดยได้ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ (ISSB) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2021 ที่การประชุม COP26 และยังที่ได้รับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนจากจากกลุ่มประเทศใหญ่ๆ อย่าง  G7, G20 และองค์การคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ (IOSCO)

เผยข้อมูลความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศ ตาม - ตกเทรนด์มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?


นี่อาจเป็นกำแพงทางการค้าใหม่ทางธุรกิจ คล้ายกับการเก็บภาษีคาร์บอนที่มาเพิ่มต้นทุนการทำธุรกิจ และมาตรฐานธุรกิจที่สูงขึ้นในแวดวงธุรกิจข้ามชาติ หรือธุรกิจที่ต้องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาร่วมลงทุน แต่ในอีกทางหนึ่งการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ นอกจากจะสร้างความเชื่อมั่น และทำให้คนเข้าใจถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ สถาบันธนาคารอย่างไรแล้ว ยังทำให้สามารถคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นได้ด้วย

เช่น บริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอาจประสบปัญหาด้านการดำเนินการ หากมีการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกมาใหม่ และบังคับให้บริษัทเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากบริษัทเหล่านัันปรับตัวไม่ทัน หรือไม่มีแผนตั้งรับก็อาจทำให้การประกอบธุรกิจต้องหยุดชะงัก หรืออาจถึงขั้นต้องปิดตัวลง

บทความใน Harvard Business Review ได้เขียนถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ขอให้บริษัทมหาชนขนาดใหญ่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พบว่า

หลังจากบริษัทเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ราคาหุ้นของบริษัทที่เปิดเผยเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.21% ในวันหลังการเปิดเผยข้อมูล และตลาดหุ้นตอบสนองต่อการเปิดเผยข้อมูลนี้เป็นอย่างดี ทำให้เห็นได้ชัดว่า  Climate Risk Disclosure มีผลอย่างมากในการตัดสินใจของนักลงทุน แม้ในขณะนั้นการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ จะยังเป็นแค่ของความร่วมมือแบบสมัครใจ

อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยแล้ว ยังไม่มีการบังคับ แนวทางปฏิบัติ หรือการสนับสนุนภาคธุรกิจให้มีการเปิดเผยความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่เป็นภาคบังคับ และสมัครใจซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องและสำคัญมากหากเราต้องการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงเตรียมยื่น ร่าง. พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของร่างนี้ก็เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็เผยว่า การบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้  จะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนในการดำเนินการของธุรกิจ เช่น การเปลี่ยนจากการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจเป็นภาคบังคับ ที่หน่วยงานรัฐสามารถขอข้อมูลการปลดปล่อยของบริษัทนั้น และแต่ละบริษัทจะต้องมีการประเมิน Carbon Footprint ของตัวเอง

แต่อย่างไรก็ตามหากภาครัฐมีการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจ อย่างการนำค่าใช้จ่ายไปยกเว้นภาษีได้ หรือสนุบสนุนโครงการลด GHG แล้ว จะส่งผลดีต่อภาพรวมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย และอาจทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ได้ภายในปี ค.ศ. 2065

เกี่ยวกับคาร์บอนไวซ์

Carbonwize เป็น One-stop service ให้บริการการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การบริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริการแพลทฟอร์มจัดการก๊าซเรือนกระจก และบริการจัดหาผู้ทวนสอบในระดับประเทศและอินเตอร์เนชันแนล Carbonwize ไม่เพียงช่วยติดตามและจัดทำรายงานตามมาตรฐานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อีกด้วย

อ้างอิง

Investopedia,  CNN, Economist, Risk Management Monitor, Qz, Insurtech Insights, ECB, Harvard Business Review, PwC, K-Research