Decarbonization 5 แนวทางปรับปรุงธุรกิจสู่ความยั่งยืน

Decarbonization 5 แนวทางปรับปรุงธุรกิจสู่ความยั่งยืน
Decarbonization 5 แนวทางปรับปรุงธุรกิจสู่ความยั่งยืน | Carbonwize

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน (2022) พบว่าภาคการผลิตพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่งของประเทศไทย มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 247.7 ล้านตันซึ่งนับว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก และในกระบวนการผลิตหรือการประกอบการดังกล่าวมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือกล่าวได้ว่ามีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลาง ไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้น จึงควรศึกษาแนวทางในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมโลกปัจจุบัน

ลองมาดู 5 วิธีในการ Decarbonization ของภาคธุรกิจกัน

Waste to energy: เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน

คืออะไร ?

คือ การนำของเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงงานที่ปกติจะต้องกำจัดทิ้งมาผ่านกระบวนการทางเคมี หรือกักเก็บ รวบรวม นำมาแปรรูป เพื่อให้กลายเป็นเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงนี้จะสามารถนำกลับมาใช้ภายในโรงงาน หรือนำไปขายให้กับโรงงานอื่น ๆ ก็ได้

ประโยชน์ต่อธุรกิจ

ประโยชน์ต่อธุรกิจ คือ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของธุรกิจ เพราะในการกำจัดหรือทำลายของเสียมีค่าใช้จ่ายสูง แต่หากนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์โดยการนำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก็เป็นการกำจัดของเสียโดยที่ไม่ต้องนำไปฝังกลบ ประหยัดค่ากำจัดของเสีย อีกทั้งธุรกิจเองยังได้นำเชื้อเพลิงจากของเสียนี้มาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงสิ้นเปลืองอื่น ๆ ที่ต้องใช้ในบางขั้นตอนการผลิต เช่น ถ่านหิน หรือ น้ำมัน รวมไปถึงความร้อนที่ได้จากการเผาขยะก็สามารถนำมาใช้นการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังสามารถลดต้นทุนพลังงานในการผลิต  

ส่วนประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม คือ ช่วยลดปริมาณของเสียที่ปล่อยออกจากโรงงาน ลดการฝังกลบที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก ยากต่อการควบคุม หากมีการควบคุมที่ไม่ดีอาจจะให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่น เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 27.2 เท่า และสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากเรานำขยะมาใช้ประโยชน์โดยการเผาระบบปิดที่มีการควบคุม จะสามารถลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม และยังสามารถในพลังงานมาใช้และลดต้นทุนการผลิตได้

เหมาะกับใคร ?

เทคโนโลยีนี้จะเหมาะสำหรับโรงงานที่มีของเสียจากการผลิตเป็นที่เป็นสารอินทรีย์ เช่น โรงงานผลิตน้ำมันพืช แป้ง อุตสาหกรรมอาหาร เพราะจะมีก๊าซมีเทนจากของเสียค่อนข้างมากซึ่งสามารถกักเก็บและนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงใหม่ได้ โรงงานที่ใช้ความร้อนจากเตาเผาผลิตไฟฟ้า หรือสามารถทำเป็นธุรกิจโรงงานรับซื้อขยะเพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF/SRF เพื่อขายพลังงานกับโรงงานอื่นได้ ตัวอย่างเช่น บริษัท เค.อาร์.คลีนเอ็นเนอร์ยี่มีการทำระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศในโรงงานแป้งมันสำปะหลังโดยการหมักเพื่อให้ได้ก๊าซมีเทนและกักเก็บนำมาใช้เป็นพลังงานในโรงงาน นอกจากนี้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากก๊าซชีวภาพส่วนหนึ่งสามารถไปขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 83,989 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

Alternative Energy: พลังงานทางเลือก ตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม

คืออะไร ?

คือ การเลือกใช้พลังงานอื่นๆ นอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อลดการเผาไหม้และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พลังงานทางเลือกมีหลายประเภท เช่น Renewable energy หรือพลังงานหมุนเวียน คือ พลังงานที่ใช้แล้วไม่ได้หมดไป สามารถหมุนเวียนนำมาใช้ได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีการสูญหายไป เช่น แสงแดด ลม นอกจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ มาแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เช่นกัน เช่น พลังงานไฟฟ้า ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันคือการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาป ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้

Impacts of renewable energy projects
พลังงานทดแทน ที่มา: https://www.deccanherald.com/science/impacts-renewable-energy-projects-1922246

ประโยชน์ต่อธุรกิจ

หากธุรกิจนำพลังงานทดแทนมาใช้ ก็จะช่วยให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต่อยอดโดยการขายพลังงานทดแทนให้กับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น การใช้แผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้า วิธีนี้นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างได้รับความนิยม เพราะสามารถติดตั้งได้ง่าย สะดวก และแทบไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่การติดตั้ง เพราะติดตั้งได้ทั้งพื้นที่ว่างบนหลังคาหรือบนน้ำที่สามารถรับแสงแดดได้ดี ในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายนั้น มีรายงานที่ประเมินความคุ้มค่าในการติดโซลาร์เซลล์ของโรงงานผลิตไม้ยางพาราจังหวัดตรังพบว่าโรงงานที่มีขนาดกำลังการผลิตมากกว่า 100 kW แล้วติดตั้งโซลาร์เซลล์ จะมีต้นทุนไฟฟ้าต่อหน่วย 2.32 บาท ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าในช่วง peak ซึ่งคือ 4.21 บาทต่อหน่วย และสามารถคืนทุนได้เร็วที่สุดภายใน 5.59 ปี (ข้อมูลปี 2020)

หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า หากธุรกิจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ หรือการขนส่งคน จะสามารถลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ตัวอย่างเช่น CU Pop Bus ที่เป็นรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ให้นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไปใช้บริการ หรือโรงพยาบาลศิริราชมีรถยนต์ไฟฟ้าให้บริการรับ-ส่งบุคลากรและผู้ป่วย นอกจากนี้ธุรกิจสามารถให้บริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งสามารถติดตั้งภายในพื้นที่กิจการ เช่น ร้านอาหาร คอนโดมิเนียม ลานจอดรถ ทำให้ธุรกิจมีรายได้อีกช่องทางหนึ่ง

A pink bus parked on the street

Description automatically generated
CU Pop Bus รถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้าภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มา: https://pmcu.co.th/ev-shuttle-bus/

เหมาะกับใคร ?

การใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม แผงโซลาร์เซลล์ เหมาะสำหรับธุรกิจหลายประเภทที่มีพื้นที่ว่างพอสำหรับการติดตั้ง เช่น โรงงาน ออฟฟิศขนาดใหญ่ ส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเหมาะสำหรับธุรกิจที่มีการใช้รถยนต์ในการขนส่ง เช่น ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ หรือหน่วยงานทั่วไปเพื่ออำนวยความสะดวกกับบุคลากรและลูกค้า เช่น โรงพยาบาล สถานศึกษา หรือโรงงานที่มีพื้นที่กว้าง

Raw material substitution: ใช้วัสดุทดแทน สร้างความยั่งยืน

คืออะไร ?

คือ การเลือกใช้วัตถุดิบทางเลือกทดแทนวัตถุดิบ ในกระบวนการผลิต วัตถุดิบบางชนิดที่ใช้อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ก่อให้เกิดสารพิษ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความร้อนออกสู่บรรยากาศ ทั้งนี้สามารถแก้ไขได้โดยการเลือกใช้วัตถุดิบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ก็ยังคำนึงถึงคุณภาพและต้นทุนในการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบทดแทนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์มีการใช้หินปูนที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลัก แต่การเผาหินปูนทำให้เกิดการสลายตัวให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ดังนั้นการเลือกใช้วัตถุดิบอื่น ๆ เช่น ขยะที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม ซิลิกา อะลูมินา เหล็ก หรือสลัดจ์น้ำเสีย แทนการใช้หินปูนก็จะสามารถลดทั้งปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และลดต้นทุนวัตถุดิบ เมื่อทางโรงงานมีความต้องการหินปูนน้อยลงแล้ว ยังส่งผลให้ความต้องการในการขุดเจาะเหมืองแร่หินปูนลดน้อยลงด้วย มีงานวิจัยของประเทศบราซิลที่นำตะกอนดินเกาลินจากแม่น้ำมาเป็นผสมกับหินปูนเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ พบว่าสามารถลดพลังงานในการผลิตได้ถึง 28% และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 38% ซึ่งคุณภาพไม่แตกต่างจากปูนซีเมนต์ทั่วไป

Limestone mining
การขุดแร่หินปูน ที่มา: https://www.yulex.com/post/what-you-didnt-know-about-limestone-mining-and-the-environment

ประโยชน์ต่อธุรกิจ

จากการลดต้นทุนโดยใช้วัตถุดิบทดแทนที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นนั้น ยังทำให้ลดต้นทุนด้านการขนส่งวัตถุดิบได้อีก ทั้งนี้นอกจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ ก็สามารถใช้แนวทางนี้ได้เช่นกัน โดยต้องมีการศึกษาทั้งในแง่ของคุณภาพผลิตภัณฑ์ ความคุ้มค่า ต้นทุน ประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เหมาะกับใคร ?

เหมาะสำหรับธุรกิจการผลิต เพราะวัตถุดิบเป็นตัวแปรสำคัญในกระบวนการผลิต ทั้งในด้านประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ต้นทุน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงธุรกิจที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์ในการจำหน่ายสินค้า

Zero food waste management: พลังงานจากขยะเศษอาหาร สิ่งที่หลายคนไม่สนใจอาจกลายเป็นกำไรอย่างไม่รู้ตัว

คืออะไร ?

คือ การจัดการการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณขยะเศษอาหารให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทุกส่วนของวัตถุดิบให้คุ้มค่ามากที่สุด อาจะเป็นการสร้างเมนูหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

ประโยชน์ต่อธุรกิจ

จากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2565 ประเทศไทยมีขยะเศษอาหารมากถึง 17 ล้านตัน ซึ่งในธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างขยะเศษอาหารมาก การบริหารจัดการวัตถุดิบภายในร้านอาหารและโรงแรมให้เกิดขยะน้อยที่สุด ทำได้โดยการนำเศษที่ถูกตัดแต่งออกจากวัตถุดิบหลักไปใช้ต่อ เช่น มันของเนื้อสัตว์สามารถนำมาเจียวเพื่อให้เป็นน้ำมันได้ เศษเนื้อสามารถนำไปตุ๋นเพื่อสร้างเป็นเมนูใหม่ได้

ส่วนวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารไม่ได้ เช่น เปลือกผลไม้ สามารถนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อใส่ในต้นไม้ตกแต่งของร้านได้ อีกวิธีหนึ่ง คือ การผลิต biogas จาก Food waste ขยะเศษอาหารเป็นขยะอินทรีย์ที่สามารถนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพได้ ก๊าซชีวภาพนั้นสามารถนำมาใช้ในการประกอบอาหาร และสลัดจ์ส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการหมักก็ยังสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในพื้นที่ได้ จะเห็นได้ว่าการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุดสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Sustainability 13 07651 g002
ปริมาณขยะเศษอาหารต่อวันในกรุงเทพมหานคร ที่มา: https://www.mdpi.com/2071-1050/13/14/7651

เหมาะกับใคร ?

เหมาะสำหรับธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม ในปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่มีการจัดการขยะเศษอาหาร เช่น โรงแรม Grand Hyatt สิงคโปร์ มีการรวบรวมเศษอาหารมาบดและทำให้แห้ง กวนผสมที่ 70 องศาเซลเซียสเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยนำมาใช้ในพื้นที่โรงแรมและขายเพื่อเพิ่มรายได้กับธุรกิจ หรืออีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือห้างโลตัส ที่มีการตัดแต่งวัตถุดิบและนำเศษวัตถุดิบไปแปรรูปเป็นสินค้าใหม่ เช่น ผักกาดขาว จะต้องมีการตัดแต่งให้สวยงาม ส่วนใบที่ถูกตัดแต่งออกสามารถนำไปแปรรูปเป็นกิมจิและจำหน่ายได้ นอกจากนี้หากธุรกิจมีการใช้วิธีที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็สามารถขอฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น Green Restaurant, Green Hotel จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้อีกด้วย ถือเป็นการสร้างจุดขายในยุคที่ลูกค้ามีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ

Carbon credit trading: แบ่งปันความสามารถในการลดคาร์บอนให้ธุรกิจอื่น เดินหน้า Net Zero ทั้งองคาพยพ

คืออะไร ?

คือ การซื้อขายสิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีแนวคิดว่าผู้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากจะต้องซื้อสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นตามไปด้วย ส่วนผู้ที่ลดหรือกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ สามารถขายสิทธิ์กับผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในรูปของ carbon credit

how an emission trading system works
กลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่มา: https://carboncredits.com/the-ultimate-guide-to-understanding-carbon-credits/

ผู้ลดหรือกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถขายคาร์บอนเครดิตผ่านตลาดคาร์บอน นอกจากจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจอีกช่องทางหนึ่งด้วย ส่วนการซื้อคาร์บอนเครดิตถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบผ่านการจ่ายเงินสนับสนุนให้ผู้ที่มีความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเร่งหาวิธีการลดการปล่อยคาร์บอน หรือ Decarbonization เพื่อลดต้นทุนทางคาร์บอนของธุรกิจในระยะยาว

เหมาะกับใคร ?

การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์วิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นสามารถนำมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตได้ทั้งสิ้น วิธีนี้จึงเหมาะสำหรับธุรกิจทุกประเภทที่ได้กล่าวมา ในประเทศไทยมีแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนแบบสมัครใจบนเว็บไซต์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกหรืออบก. ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจสามารถเข้าร่วมการซื้อขายได้ โครงการที่มีการขึ้นทะเบียนในการซื้อขายคาร์บอนมีหลากหลายประเภท

เช่น บริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันราชสีมา จำกัด กักเก็บมีเทนเพื่อใช้เป็นพลังงานในกระบวนการผลิต โครงการนำร่องเปลี่ยนรถบัสเครื่องสันดาปเป็นรถบัสไฟฟ้าภายในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ระยอง หรือโครงการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับระบบผลิตน้ำประปาชุมชน ณ ชุมชนเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

แต่ก่อนที่จะซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิต ธุรกิจจะต้องทราบก่อนว่าองค์กรของตัวเองสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่าไร ซึ่งในปัจจุบัน มีตัวช่วยอย่างแพลตฟอร์มวัดประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่เข้ามาช่วยให้องค์กรในทุกอุตสาหกรรม สามารถวัดประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ หนึ่งในนั้นคือ Carbonwize แพลตฟอร์มให้บริการการจัดการ carbon footprint ครบวงจร ตั้งแต่บริการติดตามก๊าซเรือนกระจก ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการบริการจัดหาผู้ทวนสอบในระดับประเทศและนานาชาติ

จาก 5 วิธีที่ได้นำเสนอไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีอาจเหมาะสมกับธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป ผู้ประกอบการสามารถศึกษาธุรกิจอื่นๆ ที่ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อนำไปปรับและประยุกต์ให้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนได้ที่เว็บไซต์ https://ghgreduction.tgo.or.th/th/about-tver/tver-type.html ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัตถุดิบทดแทน หรือการใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า นอกจากวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจได้อีกด้วย

Decarbonization จึงเป็นกระบวนการที่ธุรกิจควรผสานเข้าไปในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถจัดการต้นทุนทางคาร์บอนที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม

เกี่ยวกับคาร์บอนไวซ์

Carbonwize เป็น One-stop service ให้บริการการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การบริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริการแพลทฟอร์มติดตามก๊าซเรือนกระจก และบริการจัดหาผู้ทวนสอบในระดับประเทศและอินเตอร์เนชันแนล Carbonwize ไม่เพียงช่วยติดตามและจัดทำรายงานตามมาตรฐานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อีกด้วย

รายการอ้างอิง

Arruda Junior, E.S., de Sales Braga, M.S. (2023). Life cycle assessment to produce LC3 cements with kaolinitic waste from
 the Amazon region, Brazil. Case Stud. Constr. Mater. 18.

Chuchart, R., Amonhaemanon, D. (2020). An Assessment of Financial Worthiness for Solar Cell Rooftop: The Case Study of Sawn
 Timber Hevea Wood Factory in Trang Province. NIDA Business Journal, 2, 6-35.

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. (2022). การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แยกรายชนิดเชื้อเพลิงและรายสาขาเศรษฐกิจ.
 เข้าถึงได้จาก https://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/static-energy/static-co2