รวมเหตุการณ์สำคัญ จากภาวะโลกเดือด

รวมเหตุการณ์สำคัญ จากภาวะโลกเดือด
รวมเหตุการณ์สำคัญ จากภาวะโลกเดือด | Carbonwize

เชื่อว่าทุกคนคงสัมผัสได้ถึง “อากาศร้อนสุดขีด” ในปี 2024 นี้ โดยทางหน่วยงานบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป รายงานว่า 10 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่ มิ.ย. 2023 – มี.ค. 2024) เป็นช่วงที่โลกร้อนขึ้นแบบทุบสถิติใหม่เดือนต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งภาวะดังกล่าวเรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” ที่ได้ยกระดับความรุนแรงกลายเป็น “ภาวะโลกเดือด” เรียบร้อยแล้ว

ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุทำให้เกิด “การแปรปรวนของสภาพอากาศ (Climate Variability)” ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่สภาพภูมิอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงจากปกติในช่วงเวลาที่มากกว่าช่วงฤดูกาลหรือช่วงปี แต่ในปัจจุบันภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นจนก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบของสภาพอากาศในระยะยาว โดยส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงในช่วงระยะยาวนานตั้งแต่ 10 ปี

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและแปรปรวนขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังปัจจัยทางสภาพอากาศ เช่น ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้น ที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เหตุการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ เกิดขึ้นเร็ว บ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงกว่าที่เคยเป็น จนสร้างความสูญเสียและความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ ดังที่ได้พบเห็นในข่าวตามสื่อต่างๆ ซึ่งเราได้หยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดจากภาวะโลกเดือด ดังต่อไปนี้  

1. พายุและน้ำท่วมถล่มสหรัฐฯ เสียหายหนักกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ดูไบฝนตกหนักสุดในรอบ 7 ทศวรรษ และมหาอุทกภัยปี 54 ของไทยทำเสียหายรุนแรงกว่า 1.44 ล้านล้านบาท

ในปี 2023 มีเหตุการณ์พายุและน้ำท่วมครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ   ซึ่งทำลายสถิติใหม่ด้านจำนวนภัยพิบัติทางสภาพอากาศในรอบ 1 ปี  มีจำนวนมากกว่า 23 ครั้ง โดยรัฐแคลิฟอร์เนียต้องพบกับปริมาณฝนโดยเฉลี่ยมากถึง 400 - 600% ในปลายปี 2022 ถึงกลางเดือน ม.ค. 2023 และเจอกับพายุคลื่นไอน้ำอย่างน้อย 12 ครั้ง นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเจอกับพายุทอร์นาโดที่รุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 10 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์ ส่วนนครนิวยอร์กเกิดฝนตกและน้ำท่วมช่วงเดือน ก.ค. ประมาณ 5 – 8 นิ้ว   ภายในวันเดียว ทำให้ระบบคมนาคมหยุดชะงัก รวมถึงมีการยกเลิกเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวทั่วภูมิภาค โดยรวมแล้วมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่านั้น ซึ่งถือเป็น “เหตุการณ์ที่เกิดในรอบ 1,000 ปี”

หากเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน ลองมาดูเหตุการณ์ในเมืองแห่งทะเลทรายอย่างดูไบ ที่ล่าสุดในปี 2024 ได้เกิดพายุฝนตกหนักและน้ำท่วมโดยเฉลี่ยมากกว่า 5.59 นิ้ว โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เมือง Al Ain ในอาบูดาบี มีน้ำท่วมถึง 10 นิ้ว ภายในเวลาเพียง 1 วัน ซึ่งหนักที่สุดในดูไบ โดยทางศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ระบุว่า ปริมาณฝนครั้งนี้เป็นฝนที่ตกหนักที่สุดในประวัติศาสตร์รอบ 75 ปี ทำให้บ้านเรือน ถนนหนทาง และรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้ถูกน้ำท่วมเสียหาย เพราะถนนและพื้นที่ต่างๆ ของดูไบไม่มีระบบระบายน้ำ

สำหรับไทย หากกล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่คงหนีไม่พ้นปี 2554 (2011) ซึ่งมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงและการขาดขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็น “มหาอุทกภัย” ทั้งในด้านปริมาณน้ำฝน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากถึง 5.59 ล้านไร่ ซึ่งทางธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์นี้สูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว

ในมิติการพิจารณาความรุนแรงของอุทกภัยจะขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแม้ว่าระดับน้ำท่วมจะเท่ากันแต่หากพื้นที่นั้นเกิดความเสียหายรุนแรงจะถือว่าเป็นอุทกภัยรุนแรงสำหรับพื้นที่นั้น เช่น สหรัฐฯ ที่มีระดับน้ำท่วมเพียง 5 – 8 นิ้ว หรือประมาณไม่เกิน 21 cm กลับสร้างความเสียหายรุนแรงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อนำระดับน้ำท่วมที่เท่ากันมาเปรียบเทียบในไทยจะพบว่า ระดับน้ำท่วมนี้สร้างความเสียหายในไทยไม่มากนัก เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยซ้ำซาก จึงมีมาตรการรับมือพอสมควร ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ หรือดูไบ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนภูมิภาคที่เสี่ยงต่ออุทกภัย  

2. อังกฤษร้อนสุดทะลุ 40 องศาฯ แอฟริกาเผชิญคลื่นความร้อนซ้ำเติมภัยแล้ง เสียหายหนักทำการเกษตรไม่ได้ ทะเลเพลิงในแคนาดากินพื้นที่กว่า 118 ล้านไร่

คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก อย่างที่เกิดขึ้นที่อังกฤษและแอฟริกา  โดยในปี 2022 เกิดคลื่นความร้อนในอังกฤษ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียส และก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ถือเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิสูงขนาดนี้ ตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลจนถึงปี 2022 แต่ที่สาหัสกว่า คือ คลื่นความร้อนและภัยแล้งที่แอฟริกา โดยปกติแอฟริกาประสบกับภัยแล้งเป็นประจำ แต่ในช่วงต้นปี 2024 คลื่นความร้อนได้ซ้ำเติมภัยแล้งในแอฟริกาให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับภาคการเกษตร เนื่องจากคลื่นความร้อนทำให้ความชื้นในดินระเหยจนดินแห้งไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลใดๆ ได้ ส่งผลซ้ำเติมต่อความมั่นคงทางอาหารที่ค่อนข้างแย่ให้เลวร้ายลงไปอีก

ส่วนเหตุการณ์ไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดในปี 2023 คงต้องยกให้ไฟป่าในแคนาดา โดยไฟป่าได้แผดเผาทุกสิ่งในผืนป่ากินพื้นที่ประมาณ 118 ล้านไร่ ที่สำคัญเหตุการณ์ไฟป่าครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างข้ามพรมแดนไปยังอเมริกาและยุโรปด้วย เนื่องจากกระแสลมกรดได้พัดพามลพิษที่เกิดจากไฟป่ากระจายไปทั่ว

สำหรับไทยหากพิจารณาจากข้อมูล 10 ปี ย้อนหลัง (ปี 2553 – 2563) พบว่า ปี 2557 – 2558 เป็นช่วงปีที่แห้งแล้งที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนิโญที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนกลายเป็นปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังแรงมาก (Very Strong El Niño/Super El Niño)  ส่งผลให้พื้นที่เกษตรเสียหาย 1,650,000 ไร่ เกษตรกรประสบภัยกว่า 170,000 คน และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำมากขึ้น

3. น้ำแข็งขั้วโลกละลายกระทบหลายมิติ แม้กระทั่งการอ่อนกำลังลงของกระแสน้ำอุ่นแห่งชีวิตที่ค่อยหล่อเลี้ยงโลก

แผ่นภูเขาน้ำแข็ง หรือธารน้ำแข็ง (Glacier) ถือเป็นพื้นที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาก ขณะเดียวกัน ก็เป็นพื้นที่ที่มีส่วนสำคัญต่อระบบมหาสมุทรด้วย แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาภูเขาน้ำแข็งได้ละลายอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย เช่น ในปี 2017 เกิดเหตุการณ์น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลาย ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดอย่าง A68 ได้หลุดจากหิ้งน้ำแข็ง Larsen C ในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกได้ส่งผลกระทบในหลายมิติ เช่น สัตว์ที่อาศัยแถบก้อนน้ำแข็งขั้วโลกเริ่มสูญพันธุ์, ที่อยู่อาศัยแถบน้ำแข็งเริ่มไม่มั่นคง ทำให้ประชากรต้องอพยพออก, ปริมาณของระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น, มีการกลับมาของไวรัสและแบคทีเรียที่ฝังอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งเป็นระยะเวลาหลายสิบปี และมีส่วนทำให้กระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรอ่อนกำลังลง

โดยเฉพาะผลกระทบต่อการอ่อนกำลังลงของกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรอย่าง “กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม” ที่ลำเลียงทรัพยากรทางทะเลและธาตุอาหารจากเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตรไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งการอ่อนกำลังนี้ส่งผลให้เกิดฤดูหนาวที่รุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้น และพายุเฮอริเคนที่รุนแรงและถี่ขึ้น ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับพื้นที่บางส่วนของยุโรปและสหรัฐฯ แตกต่างกันออกไป

4. แผ่นดินไหวอันทรงพลังที่สุดถล่มตุรกี – ซีเรีย 2 ครั้งติดต่อกัน สร้างความเสียหายหนักแก่ผู้ลี้ภัยและองค์การช่วยเหลือต่างๆ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวและดินถล่มดูผิวเผิน   อาจไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เปลือกโลกเกิดความเครียด กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ฝนตกหนักบริเวณรอยเลื่อน ซึ่งจะทำให้เปลือกโลกได้รับน้ำหนักของน้ำมากขึ้น และในเวลาต่อมาก็เกิดภัยแล้งรุนแรงบริเวณนั้น ทำให้ภาระน้ำหนักของน้ำที่เปลือกโลกบริเวณนั้นหายไปอย่างรวดเร็ว จนรอยเลื่อนขาดความสมดุล ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยขึ้น ซึ่งในกรณีเหตุการณ์ดินถล่มก็มีสาเหตุที่คล้ายคลึงกัน

ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี – ซีเรีย ในปี 2023 โดยเกิดแผ่นดินไหว 7.9 และ 7.5 ริคเตอร์ ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองครั้งห่างกันแค่ 9 ชั่วโมง แผ่นดินไหวครั้งแรกสร้างความเสียหายในตุรกีที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งถือว่าทรงพลังที่สุดที่มีการบันทึกไว้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณที่พักอาศัยของผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ทำให้ผู้คนต้องอพยพหลายพันคน และเกิดความเสียหายกับองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม  หลายแห่งที่บริเวณนั้น

5. ไทยเจอแพลงก์ตอนบลูมกว่า 70 ครั้ง ในปีเดียว และปะการังฟอกขาวซ้ำเติมทะเลไทยทุบสถิติมากสุดในรอบ 40 ปี กระทบทั้งประมงและท่องเที่ยว

เหตุการณ์แพลงก์ตอนบลูมมีสาเหตุจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเลและความเข้มของแสงอาทิตย์   ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจุบันทะเลของไทยเกิดแพลงก์ตอนบลูมค่อนข้างบ่อยกว่าปกติ ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นราวปีละ 15 ครั้ง แต่ในปี 2023 เกิดขึ้นมากถึง 70 ครั้ง อย่าง แพลงก์ตอนบลูมที่ จ.ชลบุรี ในปี 2023 ซึ่งกินพื้นที่กว่า 1 ใน 4 ของอ่าวไทยตอนบน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและการประมงของไทยในช่วงเวลานั้น

ส่วนสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทาง ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์   รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในปี 2024 ปะการังทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันจะเผชิญกับการฟอกขาวจนถึงเดือน มิ.ย. 2024 โดยอยู่ในระดับฟอกขาวและฟอกขาวรุนแรง เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลไทยเพิ่มขึ้นทำลายสถิติในรอบ 40 ปี ตั้งแต่มีการวัดอุณหภูมิน้ำทะเล

ภาวะโลกร้อนเกิดจากอะไรและเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร?

“ภาวะโลกร้อน (Global warming)” เป็นภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect) ซึ่งภาวะเรือนกระจกถือเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยให้โลกอบอุ่นเหมาะแก่การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ภาวะเรือนกระจกเกิดจากชั้นบรรยากาศทำตัวเสมือนกระจกที่ยอมให้รังสีคลื่นสั้นผ่านลงมายังผิวโลกได้ แต่จะดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดที่แผ่จากพื้นผิวโลกไว้ และคายพลังงานความร้อนให้กระจายอยู่ภายในชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลก แต่ในปัจจุบันกิจกรรมของมนุษย์ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งสามารถดูดกลืนและคายรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดได้ดีมาก ทำให้คายความร้อนสะสมสูง ชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลกจึงมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าปกติ

หากภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงจะส่งผลต่อวัฎจักรน้ำ (water cycle) ในระดับโลก ทำให้น้ำจากส่วนต่างๆ ของโลกทั้งสิ่งมีชีวิต แหล่งน้ำ ดิน ล้วนระเหยกลายเป็นไออย่างรวดเร็ว และควบแน่นตกลงเป็นฝนอย่างหนัก ยิ่งภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งทำให้วัฎจักรแปรปรวนและรุนแรงขึ้น โดยพื้นที่ประสบภัยแล้งจะแล้งขึ้น ส่วนพื้นที่เขตมรสุมพายุฝนจะหนักกว่าปกติส่งผลให้เกิดอุทกภัยมากขึ้น

การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อย่างภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตปูนซีเมนต์, น้ำมันและปิโตรเลียม ถือเป็นประเภทอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในไทย ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างมากในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและเหตุการณ์ภัยพิบัติอื่นๆ ตามมา จึงควรมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของตน โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนจากแหล่งกำเนิด (Carbon Capture and Storage: CCS) การดักจับคาร์บอนจากอากาศโดยตรง (Direct Air Capture: DAC) การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าให้แก่คาร์บอนที่ดักจับมา (Carbontech) รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่หากไม่ต้องการใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากการทำโครงการลดคาร์บอน เช่น โครงการปลูกป่า ก็ถือเป็นอีกวิธีที่ทำได้ง่ายๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดับร้อนให้โลกของเรา

เกี่ยวกับคาร์บอนไวซ์

Carbonwize เป็น One-stop service ให้บริการการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การบริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริการแพลทฟอร์มติดตามก๊าซเรือนกระจก และบริการจัดหาผู้ทวนสอบในระดับประเทศและอินเตอร์เนชันแนล Carbonwize ไม่เพียงช่วยติดตามและจัดทำรายงานตามมาตรฐานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อีกด้วย

อ้างอิง

https://thaipublica.org/2024/04/dubai-floods-due-to-cloud-seeding-or-climate-change/

https://www.bbc.com/thai/articles/c3g9j6dy6keo

https://www.thaipbs.or.th/news/content/337542

https://www.scimath.org/article-earthscience/item/11328-2020-03-06-07-26-49

www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/206634

https://mgronline.com/science/detail/9670000004213

https://mgronline.com/around/detail/9660000073338

https://www.bbc.com/thai/articles/c1dj4eelvk1o

https://www.thaipbs.or.th/news/content/337727

http://www.environnet.in.th/archives/944