Green Terminology: 20 คำศัพท์สายกรีนที่ใช้บ่อย
หมวดสิ่งแวดล้อม
- ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases - GHG) หมายถึง ก๊าซที่มีความสามารถในการดูดซับและกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "เรือนกระจก" ซึ่งทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ประกอบด้วยก๊าซหลัก 7 ชนิด ที่ได้รับการควบคุมภายใต้ข้อตกลงปารีส ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) มีเทน (CH₄) ไนตรัสออกไซด์ (N₂O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ (SF₆) ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF₃)
- คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร หรือผลิตภัณฑ์ทั้งทางตรง และทางอ้อมตลอดทั้งวัฎจักรชีวิต ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะโลกรวน โดยแสดงผลในปริมาณตัน หรือกิโลกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO₂e) สำหรับองค์กร การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับองค์กรจะมีการกำหนดขอบเขตกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อกำหนดของ GHG Protocol ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขอบเขต (Scopes) ดังนี้:
- Scope 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมทางตรงที่องค์กรเป็นผู้ดำเนินงานหรือเจ้าของ เช่น การเผาเชื้อเพลิงภายในองค์กร
- Scope 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงานภายนอกองค์กร เช่น การใช้ไฟฟ้า ความร้อน หรือไอน้ำ
- Scope 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากกิจกรรมอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การเดินทางของพนักงาน การขนส่งสินค้า หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่องค์กรผลิต
- บัญชีคาร์บอน (Carbon Accounting) หมายถึง กระบวนการในการตรวจวัด, บันทึกติดตาม, และรายงานผลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร หรือผลิตภัณฑ์
- คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หมายถึง หน่วยที่ใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการซื้อหรือขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการดำเนินโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่แต่ละโครงการสามารถลดหรือกักเก็บได้ เช่นโครงการปลูกป่า โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โดย 1 เครดิต = การลดหรือดูดซับคาร์บอน 1 t CO₂e
- การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) หมายถึง การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ที่องค์กรไม่สามารถลดเองได้ โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการต่าง ๆ เช่น ก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางโดยเครื่องบินที่ยังไม่สามารถทำให้เป็นกลางทางคาร์บอนได้เต็มที่ โดยเครดิตคาร์บอนที่ซื้อจะต้องถูกดำนเนินการ "ปลด" (Rtire) เพื่อยืนยันว่าเครดิตดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปใช้ซ้ำ (Double Counting) หรือขายต่อในอนาคต ทั้งนี้การชดเชยคาร์บอนควรเป็นขั้นตอนเสริมหลังจากการลดการปล่อยโดยตรง (Reduction) และไม่ควรใช้แทนการลดการปล่อยในเชิงรุก
- ความยั่งยืน (Sustainability) หมายถึง แนวทางการพัฒนาธุรกิจที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบในระยะยาว ซึ่งเป็นการดูแลและการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุลและมีความรับผิดชอบ เพื่อรักษาสมดุลของ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
- เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หมายถึง แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า และยั่งยืน แทนการใช้ทรัพยากรแบบเส้นตรงที่ใช้แล้วทิ้ง (linear economy)โดยมุ่งเน้นการลดของเสีย
หมวดพลังงาน
- พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หมายถึง พลังงานจากแหล่งธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมด และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล พลังงานหมุนเวียนเป็นแกนสำคัญของการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
- การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) หมายถึง การใช้พลังงานให้น้อยลงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เท่ากันหรือดีกว่า โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพหรือประสิทธิภาพของการทำงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมีเป้าหมายหลักคือการลดการสิ้นเปลืองพลังงาน การสูญเสียพลังงานที่ไม่จำเป็น และช่วยลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ หลอดไฟ LED แทนหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์หรือหลอดไส้ ซึ่งหลอด LED ใช้พลังงานน้อยกว่า 50-80% แต่ให้แสงสว่างเท่ากัน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การลดคาร์บอน (Decarbonization) กระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีเป้าหมายเพื่อ ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy)
หมวดการเงิน
- การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green finance) หมายถึง การใช้เงินทุน หรือการลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงการที่มีเป้าหมายลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนหรือการอนุรักษ์ป่าไม้ มุ่งเน้นเฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
- การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable finance) กลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเงิน และการลงทุนให้แก่องค์กร นำไปพัฒนาโครงการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดย Sustainable Finance เป็นส่วนหนึ่งของ Green Finance แต่มีขอบเขตที่กว้างกว่า ซึ่งนำปัจจัยด้าน ESG เข้ามาเป็นเกณฑ์การพิจารณาและตัดสินใจทางการเงินหรือการลงทุนด้วย ตัวอย่างเครื่องมือทางการเงินใน Sustainable Finance เช่น Green Bonds, Social Bonds, Sustainability-linked Loans, Impact Investing, Carbon Pricing เป็นต้น
- ภาษีคาร์บอน (Carbon tax) หมายถึง กลไกการเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ โดยมีการกำหนดราคาต่อหน่วยที่คงที่ (Fixed Price) จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถคาดการณ์ต้นทุนได้ การเก็บภาษีคาร์บอนเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ผลิต และผู้บริโภค หันมาใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและมีภาษีคาร์บอนที่ต่ำกว่าการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีต้นทุนการผลิตสูง
- ระบบการซื้อขายการปล่อยคาร์บอน (Emission Trading System - ETS) หมายถึง กลไกที่กำหนด "สิทธิ์การปล่อยคาร์บอน" (Allowances) ให้แต่ละบริษัท หรือหน่วยงาน ภายใต้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุม (ซึ่งเรียกว่า "การจำกัดการปล่อย" หรือ Cap) ซึ่งจะลดลงทุกปี เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม หากองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าที่กำหนดไว้ จะต้องซื้อสิทธิ์เพิ่มเติมจากองค์กรอื่นที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ การซื้อขายสิทธิ์เหล่านี้จะถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ซึ่งราคาจะผันผวนตามอุปสงค์และอุปทานในตลาด สิ่งนี้จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะองค์กรที่สามารถลดการปล่อยได้มากกว่าที่กำหนด จะมีโอกาสขายสิทธิ์ส่วนเกินและสร้างรายได้ให้แก่ตัวเอง
หมวดการดำเนินธุรกิจ
- ESG หมายถึง แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยให้ประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่:
- สิ่งแวดล้อม (Environment) การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
- สังคม (Social) การดูแลสังคมและชุมชน
- ธรรมาภิบาล (Governance) ความโปร่งใสและธรรมาภิบาล
- เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมาย 17 ประการของสหประชาชาติ (UN) ที่ครอบคลุมการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เช่น การขจัดความยากจนและการอนุรักษ์ทรัพยากร
- การฟอกเขียว (Greenwashing) หมายถึง การเปิดเผยข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด หรือแอบอ้างผลการดำเนินงานขององค์กร ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หรือองค์กร
หมวด Climate action
- ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ในปี 2015 โดยมี 197 ประเทศลงนาม เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2°C และพยายามไม่เกิน 1.5°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ข้อตกลงนี้เป็นกรอบความร่วมมือระดับโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Goals) หมายถึง การสร้างสมดุล ระหว่างปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศและปริมาณที่ถูกดูดกลับ โดยเน้นการลดการปล่อยก๊าซให้เหลือน้อยที่สุดในทุกภาคส่วนก่อนที่จะชดเชยส่วนที่เหลือด้วยวิธีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกถาวร เช่น การปลูกป่าและการใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน เป้าหมายนี้เป็นแนวทางปฏิบัติที่มุ่งสนับสนุนเป้าหมายในข้อตกลงปารีส เพื่อบรรลุความยั่งยืนในระยะยาว
- ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หมายถึง การสร้างสมดุล ระหว่างปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศและปริมาณที่ถูกดูดกลับ โดยอาศับการชดเชยการปล่อยก๊าซที่ไม่สามารถลดได้ โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ได้รับการรับรอง เป้าหมายของ Carbon Neutrality ถือเป็นเป้าหมายระยะสั้น ที่องค์กรหรือประเทศสามารถบรรลุได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทันที อย่างไรก็ตาม Carbon Neutrality ควรเป็นเพียง ขั้นตอนแรก ที่นำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งเน้นการลดการปล่อยอย่างแท้จริงและการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
เกร็ดความรู้
ขั้นตอนแรกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือการวัด คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) อย่างถูกต้องและครอบคลุม เพื่อทำความเข้าใจว่ากิจกรรมหรือกระบวนการใดในองค์กรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด การวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ช่วยให้องค์กรสามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการวางแผนลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แพลตฟอร์มคาร์บอนไวซ์ (Carbonwize) ช่วยให้องค์กรของคุณวัดและติดตามคาร์บอนฟุตพรินต์ได้อย่างแม่นยำ ด้วยการใช้งานที่ง่ายดายและรวดเร็ว แพลตฟอร์มของเรามีฐานข้อมูลปัจจัยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมและเทคโนโลยีการประมวลผลที่ทันสมัย พร้อมระบบอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ขององค์กร เพื่อช่วยให้องค์กรของคุณสามารถวิเคราะห์และจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนวันนี้ ด้วยการเลือกใช้ Carbonwize ที่ไม่เพียงช่วยคุณลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสให้กับองค์กรของคุณในสายตาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลก!
แหล่งข้อมูล: UNFCCC - Key Aspects of the Paris Agreement, สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม