พลิกโฉมคลองเน่าในฝรั่งเศส แข่งว่ายน้ำโอลิมปิก 2024 ใช้เงินเท่าไร ไทยเราทำบ้างได้ไหม?

พลิกโฉมคลองเน่าในฝรั่งเศส แข่งว่ายน้ำโอลิมปิก 2024 ใช้เงินเท่าไร ไทยเราทำบ้างได้ไหม?
พลิกโฉมคลองเน่าในฝรั่งเศส แข่งว่ายน้ำโอลิมปิก 2024 ใช้เงินเท่าไร ไทยเราทำบ้างได้ไหม? | Carbonwize

‘La Seine’ หรือแม่น้ำแซน แม่น้ำสายสำคัญของประเทศฝรั่งเศส ที่ไหลพาดผ่านใจกลางกรุงปารีส รวมถึงสถานที่าำคัญๆ อย่างหอไอเฟล, มหาวิหาร Notre Dame, พิพิธภัณฑ์ Louvre และ พิพิธภัณฑ์ Orsey ได้ฉายาว่า ‘แม่น้ำแห่งความโรแมนติก (River of Romance)’ โลเคชันสุดคลาสสิกที่คู่รักจะต้องไปเช็คอิน ไม่ว่าจะเป็นการทานดินเนอร์สุดชิค หรือแม้แต่ขอแต่งงานโดยมีฉากหลังเป็นหอไอเฟล และแม่น้ำสายนี้ แต่หากมีคู่ไหนซวยทำแหวนตกลงไป อาจจะหาคนงมให้ยากหน่อย เพราะสายน้ำสุดโรแมนติกแห่งนี้ ถูกทางการปารีสสั่งห้ามลงไปว่ายน้ำนานกว่า 100 ปีแล้ว!

ปารีสชุบชีวิต La Seine ได้อย่างไร และถ้าบ้านเราอยากจะพลิกฟื้นผืนน้ำเจ้าพระยาให้กลับมาน่าแหวกว่ายอีกครั้ง จะสามารถทำได้ไหม? มาล่องเรือตามกระแสน้ำของ La Seine และหาคำตอบไปพร้อมกับ Carbonwize ในบทความนี้กัน

ที่มา : Olympics

Paris 2024 : ภารกิจชุบชีวิตแม่น้ำแซน (La Seine)

แม้ La Seine จะเป็นแม้น้ำสายสำคัญที่พาดผ่านปารีส และเชื่อมต่อกับหลายเมืองในฝรั่งเศส แต่ก็ไม่ค่อยมีใครอยากที่จะลงไปแหวกว่าย ดื่มด่ำในแม่น้ำสายนี้ สาเหตุมาจากการมีโลหะปนเปื้อน และจุลินทรีย์ในระดับที่เป็นอันตราย ซึ่งแม้มีความพยายามในการชุบชีวิต La siene หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งไหนสลักสำคัญเท่ากับเมกะโปรเจกต์เนรมิตน้ำใสรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ‘Paris 2024’ ที่ทุ่มงบกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า ‘5 หมื่นล้านบาท’ (เกือบเท่ามูลค่าการการลงทุนของศูนย์การค้า ‘Icon Siam’) เพื่อคืนชีพแม่น้ำสายนี้มีคุณภาพอยู่ในระดับที่สามารถว่ายน้ำได้ ให้สามารถใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาสองชนิด คือ ไตรกีฬา (Triathlon) และว่ายน้ำมาราธอน (Marathon Swimming)

นอกจากนี้ มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 จะถือเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของกีฬาโอลิมปิกที่พิธีเปิดจะจัดขึ้นกลางแม่น้ำแซน โดยทัพนักกีฬานานาประเทศจะล่องเรือไปยังสถานที่จุดคบเพลิง ซึ่งก็คือ ‘หอไอเฟล’ พร้อมรับชมการแสดงสุดตระการตาจากสองฝั่งแม่น้ำ การจัดพิธีเปิดสุดแหวกขนบครั้งนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากความตั้งใจที่อยากจะให้ La Siene กลับไปใสสะอาด เหมือนกับครั้งที่ปารีสเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ในปี 1900

ที่มา : Max Frank

ถ้าป้องกันน้ำฝนไหลบ่าได้ La Seine ก็ปลอดภัย

ต้นตอความสกปรกของแม่น้ำแห่งความโรแมนติกนี้ก็คือ ระบบระบายน้ำของเมืองปารีสที่มีอายุนานหลายศตวรรษ และเป็น ‘ระบบท่อรวม’ ที่ท่อระบายน้ำจะรองรับทั้งน้ำเสียจากชุมชน อุตสาหกรรม (รวมถึงน้ำทิ้งและน้ำโสโครกจากส้วมด้วย) กับ น้ำฝน ไว้ด้วยกัน ต่างจากระบบท่อแยกสมัยใหม่ที่แยกท่อน้ำทิ้ง และท่อน้ำฝนออกจากกัน ในสภาวะปกติ ระบบระบายน้ำแบบท่อรวมของมหานครปารีสก็ทำงานได้ปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วสู่แหล่งน้ำปลายทาง

แต่ในวันที่ฝนถล่ม มวลน้ำมหาศาลจะไหลบ่าลงไปในระบบท่อรวมจนเกินรับไหว หากไม่อยากให้น้ำเสีย ‘ไหลย้อน’ ขึ้นไปตามท่อ หรืออาคารบ้านเรือน ก็ต้องมี ‘ทางออกฉุกเฉิน’ ให้น้ำเหล่านี้ที่พัดพามาทั้งน้ำฝนและน้ำเสียรวมกัน ในที่นี้ ทางออกดังกล่าวก็คือ ‘La Siene’ นั่นเอง ซึ่งในแต่ละปีระบบระบายน้ำของปารีสจะปล่อยน้ำเสียที่ไม่ได้รับการบำบัดลงสู่แม่น้ำแซนราว 12 ครั้งต่อปี ในในปี 2022 เพียงปีเดียว มีน้ำเสียไหลบ่าลงสู่แม่น้ำแซน มากถึง 1.9 ล้านลบ.ม. เทียบเท่ากับสระมาตรฐานโอลิมปิกมากถึง 760 สระเลยทีเดียว

วิธีแก้ปัญหาที่ปารีส นำโดยนายกเทศมนตรีหญิง Anne Hidalgo เลือกใช้ จึงเป็นการสร้างอ่างรองรับน้ำฝนขนาดใหญ่ ใต้สถานีรถไฟ Austerlitz เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ระบบระบายน้ำรับมวลน้ำเกินกำลัง และใช้ทางออกฉุกเฉินไหลลงสู่แม่น้ำ Siene

ถ้าถามว่าอ่างเก็บน้ำ Austerlitz (Austerlitz basin) มีขนาดใหญ่แค่ไหน?

เปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบง่ายๆ ก็คือ เราสามารถยัด ‘เทพีเสรีภาพ’ ลงไปในอ่างเก็บน้ำนี้ได้ โดยความสูงของอ่างจะสูงประมาณ 2 ใน 3 ของเทพีเสรีภาพ (เส้นผ่านศูนย์กลางของอ่าง 50 เมตร ลึก 30 เมตร) สามารถรองรับน้ำฝนได้ปริมาตร 50,000 ลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับสระว่าน้ำโอลิมปิกประมาณ 20 สระ ซึ่งอาจฟังดูห่างไกลจากปริมาตรน้ำเสีย 720 สระที่ปล่อยลง The Seine แต่นี่คือการแก้ปัญหาที่ต้นทาง สกัดกั้นน้ำฝนไม่ให้ปนกับน้ำเสีย ทำให้ระบบท่อเดินทำการบำบัดน้ำเสียได้อย่างที่ควรจะเป็น

โดยความพยายามดังกล่าวนี้ได้ทำให้ในปี 2022 ปริมาณน้ำเสียที่ไหลลง The Seine นั้นลดลงจากเดิมถึง 90% เทียบกับเมื่อ 20 ก่อน และพัฒนาขึ้นเรื่อยมา จนใกล้จะพร้อมสำหรับการเป็นเวทีสำหรับพิธีเปิดที่แหวกแนวที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก และรองรับการแข่งขันกีฬาทางน้ำสุดทรหดแล้ว


แล้วถ้าเราอยากให้แม่น้ำเจ้าพระยาใสบ้าง จะได้ไหม?

หันกลับมามองที่บ้านเรา กรุงเทพมหานครนั้นมีสิ่งที่ต่างกับปารีสอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องผังเมืองที่ยุ่งเหยิง โรงควบคุมคุณภาพน้ำที่มีกำลังกำารบัดจริงน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และจำนวนคลองที่มีมากถึง 1,161 คลอง ในขณะที่ปารีสมีคลองเพียง 3 คลอง! การแก้ไขปัญหาน้ำเสียตามคูคลองต่างๆ ที่ท้ายที่สุดแล้วจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงซับซ้อนกว่ามาก

สิ่งเดียวที่มีเหมือนกันคือ การที่กรุงเทพมหานครยังใช้ ‘ระบบท่อรวม’ เหมือนกับปารีส ส่งผลให้ปริมาณน้ำเสียที่จะต้องบำบัดเพิ่มขึ้นมากในวันที่ฝนตก เพิ่มภาระให้กับโรงควบคุมคุณภาพน้ำแต่ละแห่ง ส่งผลให้ในแต่ละวัน มีน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดมีปริมาณราว 1.23 ล้านลบ.ม./วัน เกือบเท่ากับปริมาณน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำแซนในปี 2022 ‘ทั้งปี’ แต่เนื่องจากกรุงเทพมีคลองนับพันสาย น้ำเสียเหล่านี้จึงอาจไม่ได้ถูกปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดพร้อมกัน แต่กระจายอยู่ตามคูคลองรอบเมือง นำมาสู่ปัญหาน้ำเน่าเสียตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีโครงการของภาครัฐมากมายที่มีจุดประสงค์เพื่อบำบัดน้ำเน่าเสียในกรุงเทพมหานคร หนึ่งในนั้นคือ โครงการการฟื้นฟูคลองแสนแสบ ที่มีรัฐบาลกลางลงมาเป็นเจ้าภาพ ด้วยงบประมาณ ‘8.26 หมื่นล้านบาท’ ระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี (2564-2574) ประกอบด้วยโครงการย่อยรวม 84 โครงการ ซึ่งหากสำเร็จ จะเป็นการฟื้นศรัทธาให้กับชาวกรุงเทพฯ ซึ่งใช้ชีวิตและสัญจรใกล้กับคลองแสนแสบได้อย่างแน่นอน

ที่มา : สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

3 เทคโนโลยีแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำแบบไม่ซ้ำเติมโลก

นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียโดยหน่วยงานภาครัฐแล้ว กรุงเทพมหานคร อาจต้องการตัวช่วยเป็น ‘เทคโนโลยี’ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีบางส่วนที่เหมาะกับประเทศไทยได้แก่

ที่มา : Wikipedia

1) ใช้ ‘พืช’ ช่วยดีท็อกซ์น้ำและดิน

นอกจากพืชจะมีความสามารถในการดูดสารอาหารจากน้ำและดินแล้ว พืชยังสามารถดูดโลหะหนักได้อีกด้วย การบำบัดน้ำหรือดินด้วยวิธี ‘Phytoremidation’ นี้ จะนำพืชไปปลูกบริเวณดินที่ปนเปื้อน หรือสร้างแพลอยน้ำเหนือบริเวณที่มีมลพิษ ให้ต้นพืชทำหน้าที่ดูดซับสารพิษเหล่านี้ และนำไปกำจัดโดยการเผาด้วยความร้อนสูง แล้วฝังกลบ ซึ่งพืชแต่ละชนิด จะมีความสามารถในการดูดซับสารพิษที่ต่างกัน เช่นพืชกลุ่ม ‘พิษลักษณ์’ (pokeweed) ดูดซับแคดเมียม, ต้นยาสูบดูดซับปรอท,  ต้นข้าวโพดดูดซับตะกั่ว หรือที่บ้านเรารู้จักกันดีคือการใช้ ‘แหนแดง’ ดูดซับธาตุอาหารกลุ่มไนโตรเจนที่มีมากเกินไป แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากปรากฏการณ์ ‘สาหร่ายสะพรั่ง’ ได้  วิธีนี้ นอกจากจะไม่ต้องใช้สารเคมีที่อาจมีปัญหาในการกำจัดในภายหลังแล้ว ระหว่างที่พืชเติบโต ยังช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย

ที่มา : Foundation for Food & Agriculture Research

2) ใช้ ‘ถ่านชีวภาพ’ ดูดซับโลหะหนัก

อีกหนึ่งวิธีที่เหมาะกับประเทศไทยคือการใช้ถ่านชีวภาพ หรือ ‘Biochar’ ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับทั้งสารปนเปื้อนทั้งโลหะหนัก สารอินทรีย์ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส รวมถึงยาฆ่าแมลง เกิดจากการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง ที่มีมากในประเทศผู้ผลิตอย่างบ้านเรา ไปผ่านกระบวนการเผาในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน (Pyrolysis) นอกจากจะได้เป็น Biochar แล้ว ยังเกิดเป็น Biofuel ชนิดต่างๆ ให้นำไปใช้ต่ออีกด้วย เป็นวิธีเปลี่ยนจากของเสียภาคการเกษตรที่จะต้องถูกเผาทิ้ง และเกิดก๊าซ CO2 ปริมาณมหาศาล มาเป็นโซลูชั่นส์ที่เกิดประโยชน์อย่างมากต่อสังคมส่วนรวม

ที่มา : The Ocean Cleanup

3) ใช้ ‘เครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ’ เคลียร์ขยะจากท้องน้ำ

การจะฟื้นชีวิตให้แม่น้ำเจ้าพระยา และคูคลองสาขาต่างๆ ไม่ใช่แค่การปรับปรุงคุณภาพน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องจัดการกับ ‘ปัญหาขยะ’ ที่ในแต่ละปี ขยะกว่า 52 ล้านชิ้นจากเจ้าพระยา จะถูกพัดพาลงสู่อ่าวไทย ในระดับโลกนั้น โซลูชั่นส์อย่าง ‘เรือเก็บขยะอัตโนมัติพลังแสงอาทิตย์ - Interceptor’ โดยองค์กรไม่แสวงหากำไร ‘The Ocean Cleanup’ ได้ออกเดินทางไปจัดการกับปัญหาขยะในทะเลและแม่น้ำร่วมกับภาครัฐในท้องถิ่นไปแล้วกว่า 8 ล้านชิ้นในปี 2023 ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เซ็น MOU เพื่อศึกษาการนำเรือ Inceptor มาจัดการกับขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ในอนาคตอันใกล้ หากเรือ Interceptor ได้ลงปฏิบัติหน้าที่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจริง ก็น่าติดตามว่าจะช่วยจัดการปัญหาขยะในแหล่งน้ำสำคัญของบ้านเราได้มากเท่าไร

บทเรียนจาก Paris 2024 ที่ La Seine สู่แม่น้ำเจ้าพระยา

เมกะโปรเจกต์ ‘คืนชีพแม่น้ำแซน’ เพื่อต้อนรับงาน Paris 2024 ในครั้งนี้สอดคล้องกับเทรนด์การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นในมหกรรม Tokyo 2020 ที่ญี่ปุ่นรีไซเคิลเหรียญโอลิมปิกจากขยะอิเลกทรอนิกส์ สร้างหมู่บ้านนักกีฬาจากไม้ด้วยทักษะช่างฝีมือแบบโบราณและนำไปรีไซเคิลทั้งหมดหลังจากจบงาน ใช้รถพลังงานไฮโดรเจนขนส่งทัพนักกีฬา ฯลฯ ใน Paris 2024 ปีนี้เอง ฝรั่งเศสเองก็น่าจะงัดสารพัดนวัตกรรมสีเขียวมาประกาศให้โลกรู้ว่า ความรุ่งโรจน์ของอารยธรรมมนุษย์สามารถเติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืนของธรรมชาติได้

แม่น้ำแซนที่ใสสะอาดขึ้นในรอบ 100 ปี จะกลายเป็นมรดกจากฝรั่งเศส สู่ชาวปารีเซียงที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมืองรอบแม่น้ำแซน สร้างมูลค่าทางเศษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางน้ำที่จะหนาแน่นมากขึ้น ฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของฝรั่งเศส ที่ต้องให้ประชาชนในประเทศลดการสัมผัสกับมลพิษ ปลอดภัยจากผลกระทบทางสภาพอากาศ และภัยธรรมชาติ

ควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม การเติบโตของชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว โดยฝรั่งเศสมีแผนมุ่งหน้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยอาศัยการปรับสัดส่วนการใช้พลังงานของประเทศ ให้มาจากพลังงานทดแทน 40% ในปี 2030 และมาจากพลังงานนิวเคลียร์ 50% ในปี 2035 ร่วมกับการลดการปล่อยก๊าซของภาคการเกษตรซึ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซมีเทนมากถึง 67% ของทั้งประเทศ

ในวันที่อารยประเทศ กำลังหันมาวัดความเจริญก้าวหน้าที่ความสามารถในการเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาธรรมชาติ บ้านเราอาจจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และชีวิตอย่าง ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ โดยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้จริงจังมากกว่านี้เสียแล้ว

เกี่ยวกับคาร์บอนไวซ์

Carbonwize เป็น One-stop service ให้บริการการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การบริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริการแพลทฟอร์มจัดการก๊าซเรือนกระจก และบริการจัดหาผู้ทวนสอบในระดับประเทศและอินเตอร์เนชันแนล Carbonwize ไม่เพียงช่วยติดตามและจัดทำรายงานตามมาตรฐานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อีกด้วย

ที่มา : Olympics, Green Matter, Rocket Media Lab, The Ocean Cleanup, คณะสารธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Chemosphere