คาร์บอนฟุตพริ้นท์ 'องค์กร' และ 'ผลิตภัณฑ์' รายงานอย่างไร รูปแบบไหนที่เหมาะกับองค์กรของคุณ

คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (CFP)
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ 'องค์กร' และ 'ผลิตภัณฑ์' รายงานอย่างไร รูปแบบไหนที่เหมาะกับองค์กรของคุณ

ธุรกิจที่โดดเด่นในยุคนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้สูงที่สุด แต่ยังต้องส่งผลกระทบต่อโลกผ่านการสร้าง ‘คาร์บอนฟุตพริ้นท์’ ต่ำด้วย หนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้ธุรกิจจัดการกับผลกระทบดังกล่าวได้คือ “การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization, CFO)” และ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product, CFP)” ที่จะมาช่วยสร้างแต้มต่อให้องค์กรของคุณโดดเด่นในสายตาของคู่ค้าระดับโลก เป็นที่รักในสายตาของผู้บริโภค แถมยังเป็นการสร้างรากฐานสำคัญด้านความยั่งยืนให้กับองค์กรอีกด้วย

การประเมิน CFO (Carbon footprint for Organization) คืออะไร

การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) คือ การประเมินผลรวมของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น จากการดำเนินกิจกรรมขององค์กรกระบวนการ หรือกิจกรรมทั้งหมดในขอบเขตที่กำหนดขององค์กรนั้น โดยมีการแบ่งประเภทของขอบเขตในการประเมิน (Scope)  ออกเป็น 3 ขอบเขต ตาม GHG Protocol ซึ่งจะครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เฟรนไชส์ เวนเดอร์ ซัพพลายเออร์ คอนแทรคเตอร์ เป็นต้น

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ Scope 1 2 3
การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ Scope 1 2 และ 3 ที่มา : GHG Protocol

การประเมิน CFP (Carbon Footprint of Product, CFP) คืออะไร

การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) คือการประเมินผลรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้หลักการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ของผลิตภัณฑ์ มีขอบเขตการประเมิน 2 แบบ คือ การประเมินแบบธุรกิจสู่ธุรกิจ (Business to Business: B2B) และ การประเมินแบบธุรกิจสู่ลูกค้า (Business to Customer: B2C)

> การประเมินแบบธุรกิจสู่ธุรกิจ (Business to Business: B2B)

เป็นการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็น “วัตถุดิบตั้งต้น (Raw Material)  หรือส่วนประกอบ (Component) สำหรับผลิตภัณฑ์อื่น” ตัวอย่างเช่น เม็ดพลาสติก บรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหารสำเร็จรูป ยางแท่ง แผ่นโลหะ เส้นด้าย กระดาษลูกฟูก

การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ประเภท B2B นั้น จะประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในขั้นต่างๆ นับตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การใช้พลังงาน เช่น พลังงานความร้อน ไฟฟ้า หรือทรัพยากร เช่น น้ำ ในกระบวนการต่างๆ การขนส่งวัตถุดิบเข้ามาในโรงงาน การผลิตและบรรจุหีบห่อ รวมไปถึงการเก็บรักษา และการกำจัดของเสียจากขั้นตอนการผลิต

แต่จะไม่ประเมินไปถึงขั้นตอนการเกิดใช้งาน การกำจัดซากหรือของเสียที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์

นิยมเรียกการติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรูปแบบนี้ว่า ‘Cradle-to-gate’ หรือ ‘จากอู่สู่ประตู’ สะท้อนการติดตามตั้งแต่แหล่งผลิตและไปจนนถึงแค่หน้าประตูโรงงานเท่านั้น

Cradle-to-gate vs Cradle-to-grave LCA
ความแตกต่างระหว่างการประเมินแบบวัฏจักรชีวิตแบบ Crade-to-gate และ Cradle-to-grave ที่มา: Green Element

> การประเมินแบบธุรกิจสู่ลูกค้า (Business to Customer: B2C)

เป็นการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็น “สินค้าสำเร็จรูป (Finished Product)” ที่จะถูกใช้งานโดยผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ตัวอย่าง อาหาร เครื่องปรุง บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เสื้อผ้า อาหารสัตว์ โทรศัพท์มือถือ

การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้ากลุ่มนี้ จะประเมิน  ‘ตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์’ ตั้งแต่ขั้นตอนของการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์นั้นๆ การขนส่งจากกระบวนการหนึ่งไปยังอีกกระบวนการหนึ่ง การเกิดใช้ทรัพยากร พลังงานในแต่ละกระบวนการ รวมไปถึงการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการใช้งาน และการกจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังจากใช้งานด้วย

นิยมเรียกการติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรูปแบบนี้ว่า ‘Cradle-to-grave’ หรือ ‘จากอู่สู่การกำจัดซาก’ ซึ่งจะติดตามตั้งแต่ขั้นตอนแรกสุดของกระบวนการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายนั่นก็คือ การกำจัดซากโดยกรรมวิธีต่างๆ เช่น การรีไซเคิล การเผา หรือการฝังกลบนั่นเอง

แพลตฟอร์มจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ Carbon Footprint Platform


เตรียมตัวสู่ก้าวแรกของการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และผลิตภัณฑ์

การทำความเข้าใจ และการจัดการปริมาณ ‘คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO)’ และ ‘คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP)’ เป็นโอกาสขององค์กรในการสร้างความโดดเด่น และเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ซึ่งก้าวแรกขององค์กรก็คือ การเตรียมความพร้อมด้านการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมภายในองค์กร ซึ่งในขั้นตอนนี้จะรวมถึงการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยละเอียดของทุกๆ กิจกรรมในองค์กร ทั้งข้อมูลการใช้พลังงาน ของเสียที่เกิดขึ้น รวมถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งซัพพลายเชน ขั้นตอนนี้ไม่เพียงช่วยให้องค์กรเตรียมตัวสู่การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่านั้น แต่ยังจะทำให้องค์กรมองเห็นพฤติกรรมการใช้พลังงานและผลิตก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน นำไปสู่การตั้งเป้าหมายการลดอย่างสมเหตุสมผล และทำได้จริง

แพลทฟอร์มจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่าง ‘Carbonwize’ สามารถเข้ามาช่วยลดความซับซ้อนของสารพัดขั้นตอนยุ่งยากในการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งองค์กร ทำให้การเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นระบบ และสอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก สะดวกสำหรับทั้งพนักงานในองค์กร ตลอดจนซัพพลายเออร์ภายนอกองค์กร โซลูชั่นส์เช่นนี้ไม่เพียงช่วยให้องค์กรเข้าใกล้มาตรฐานด้าน CFO และ CFP ได้ในเวลาอันรวดเร็วมากขึ้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำกับทั้งผู้มีส่วนได้เสีย พาร์ทเนอร์ รวมถึงลูกค้าว่าบริษัทกำลังมุ่งหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

แพลตฟอร์มจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ Carbonwize


มาตรฐานที่เกี่ยวกับ CFO และ CFP ที่สำคัญในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย มาตรฐานที่เกี่ยวกับการประเมิน Carbon Footprint สำหรับองค์กร และผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ประกอบการควรรู้จักมีดังนี้

มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ CFO

-ISO 14064-1 : มาตรฐานระดับสากล ที่ระบุหลักการและข้อกำหนดในระดับองค์กร สำหรับการวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก รวมถึงข้อกำหนดสำหรับการออกแบบ การพัฒนา การจัดการ การรายงาน และการทวนสอบบัญชีรายการการปลดปล่อย และการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

-การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) : มาตรฐานในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พัฒนามาจากมาตรฐาน ISO 14064-1

ISO 14064-1 CFO
ขั้นตอนการทวนสอบและรับรอง ตามมาตรฐาน ISO 14064-1 ที่มา : MASCI

มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ CFP

-ISO 14067 : มาตรฐานว่าด้วยการจัดทำข้อกำหนดและแนวทางในแสดงและรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดเมื่อกลายเป็นของเสีย รวมถึงการสื่อสาร

-ISO 14025 และ EPD

ISO 14025 : มาตรฐานที่เกี่ยวกับฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นฉลากที่บ่งบอกถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม แสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมโดยรวม (Environmental information) ซึ่งได้จากการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตต่อสิ่งแวดล้อม (LCA) ตามมาตรฐาน ISO 14040 โดยฉลากนี้ จะมีหน่วยงานอิสระ หรือองค์กรกลางในการทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะประกาศลงกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ

มากไปกว่านั้น ภายใต้มาตรฐาน ISO 14025 ยังมีฉลาก ‘EDP’ หรือ Environmental Product Declaration ที่จะบอกส่วนผสมหรือวัตถุดิบทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ และประเมินผลกระทบของผลิตภัณฑ์ไม่เพียงแค่เรื่องภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ด้าน เช่น การลดลงของชั้นโอโซน การเกิดฝนกรด ความเป็นพิษต่อมนุษย์ การใช้น้ำจืด การเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์ การเกิดหมอกพิษ การเจริญเติบโตของพืชผิดปกติ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

-การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) : มาตรฐานในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พัฒนามาจากมาตรฐาน ISO 14067

CFO Scope 1 2 3 and CFP LCA
ความสัมพันธ์การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ Scope 1 2 และ 3 (ใน CFO) และการประเมิณการปลดปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (ใน CFP) ที่มา : GHG Protocol

องค์กรพึงเริ่มต้นก้าวแรกด้วยการเลือกให้ชัดเจนว่า ต้องการที่จะรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมขององค์กร (CFO) หรือรายงานแบบเจาะรายผลิตภัณฑ์ (CFP) เพราะขั้นตอนการเก็บข้อมูล และวัตถุประสงค์ของการนำรายงานไปใช้นั้นแตกต่างกัน เช่น CFO เหมาะสำหรับให้องค์กรนำไปเปิดเผยแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ถือหุ้น ส่วน CFP นั้น สำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบ B2B ก็จะสามารถนำรายงานนี้ไปเปิดเผยแก่เวนเดอร์ หรือคู่ค้าได้ ส่วนฝั่งธุรกิจแบบ B2C ก็สามารถใช้สื่อสารกับผู้บริโภคได้ ซึ่งผู้บริโภคสมัยใหม่โดยเฉพาะเจน Z นั้น ให้ความสำคัญกับหัวข้อด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

การรับรอง CFO กับ CFP ต่างกันอย่างไร และสำคัญกับองค์กรอย่างไร

หลังจากที่องค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ได้เริ่มการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ทวนสอบข้อมูล และผ่านการรับรองตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องแล้ว สิ่งที่องค์กรจะได้หลังจากผ่านการรับรอง CFO (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร) นั้น จะเป็น “ใบรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร” ที่ระบุถึงการปล่อยก๊าซใน Scope 1 2 และ 3

ส่วนการรับรอง CFP (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์) นั้น องค์กรจะได้ใบรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ที่เข้ารับการรับรอง

การประเมิน CFO  จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับองค์กรหลายประการ อาทิ

-ช่วยให้องค์กรเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของคู่ค้า โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศหลายแห่งที่ในปัจจุบัน ใช้ CFO เป็นหนึ่งในเกณฑ์การคัดเลือกคู่ค้าร่วมด้วย

-ช่วยให้องค์กรดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับข้อกำหนด กฎหมาย กรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ หรือข้อกำหนดของคู่ค้ารายใหญ่ระดับโลก ที่กำลังเร่งมือประเมิน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังทั้งซัพพลายเชน

-ช่วยให้องค์กรมองเห็นค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่แฝงในกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่กิจกรรมหลักขององค์กร เช่น ค่าน้ำมัน ค่ากระดาษ นำไปสู่การวางแผนปรับลดที่ทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยลดต้นทุนให้องค์กรด้วย

ส่วนการประเมิน CFP นั้น ช่วยสร้างจุดแข็งให้กับผลิตภัณฑ์ในหลายด้านด้วยกัน

-ช่วยให้ผลิตภัณฑ์เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของคู่ค้า โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อนำไปคำนวณในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 3 ขององค์กร

-ช่วยให้ผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับข้อกำหนด กฎหมาย กรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ หรือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจให้กับคู่ค้ารายใหญ่ระดับโลก ที่กำลังเร่งมือประเมิน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังทั้งซัพพลายเชน

เกี่ยวกับคาร์บอนไวซ์

Carbonwize เป็น One-stop service ให้บริการการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การบริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริการแพลทฟอร์มจัดการก๊าซเรือนกระจก และบริการจัดหาผู้ทวนสอบในระดับประเทศและอินเตอร์เนชันแนล Carbonwize ไม่เพียงช่วยติดตามและจัดทำรายงานตามมาตรฐานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อีกด้วย

แหล่งที่มา : Plan be eco, S-Peers, TGO, FTI, Petromat, OneTrust, EN - Technology Consultants, ISO, BSI, Greenly

ติดตามข่าวสารด้านความยั่งยืนเพิ่มเติม

Carbon Footprint (คาร์บอน ฟุตพริ้นท์) คืออะไร? พร้อมวิธีคำนวณที่ธุรกิจต้องรู้

"CBAM" คืออะไร? ทำความรู้จักมาตรการภาษีคาร์บอน ก้าวสำคัญของตลาดส่งออก

เทคนิคการประยุกต์ความยั่งยืนสู่ธุรกิจ