ทำไมประเทศไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์?

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ประเทศไทย Carbonwize
ทำไมประเทศไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์? | Carbonwize
Carbon footprint คาร์บอนฟุตพริ้นท์ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวคเลียร์
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของพลังงานรูปแบบต่างๆ ที่มา : Our World in Data

‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ จากแหล่งผลิตไฟฟ้าที่หลายคนเคลือบแคลงใจ กำลังกลายร่างเป็น ‘พระเอกขี่ม้าขาว’ คนใหม่ที่จะเร่งให้นานาประเทศเข้าใกล้เป้าหมาย ‘Net 0’ หรือการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ไวยิ่งขึ้น การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ มีจุดเด่นตรงที่ทั้งไม่ทิ้งคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และผลิตพลังงานอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนานิวเคลียร์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินถึง 273 เท่า และยังสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับพลังงานสะอาดชนิดสำคัญของโลกอย่างพลังงานจากน้ำ ลด และแสงอาทิตย์

แม้ในตอนนี้กลุ่มประเทศอาเซียนจะยังไม่มีใครผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้ แต่ด้วยแรงกดดันจากจากสถานการณ์โลกเดือด รวมถึงความต้องการด้านพลังงานที่พุ่งสูงจนกระทบกำลังซื้อของประเทศกำลังพัฒนา หลายประเทศในอาเซียนจึงได้หยิบแผนพลังงานแห่งอนาคตนี้มาปัดฝุ่นใหม่ หรือเดินหน้าต่อจากเดิม ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย รวมถึง ‘ฟิลิปปินส์’ ผู้เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นของตัวเองแล้ว แต่ก็มีอายุนานกว่า 3 ทศวรรษ และยังไม่เคยถูกใช้ผลิตไฟฟ้าแม้แต่กิโลวัตต์เดียว

แล้ว “ไทยแลนด์” ของเราว่าอย่างไร? จากที่เราเกาะกระแสความฮอตของ ‘ยานยนต์ EV’ จนมียอดขายโตเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนแล้ว เรามีแผนที่จะเกาะกระแสผลิตพลังงานสะอาดด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บ้างจะดีไหม? โอกาส และข้อจำกัดของไทย ในการเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์มีมากน้อยแค่ไหน และไฟฟ้าสะอาดที่ผลิตจากปฏิกิริยาในระดับเล็กกว่าอะตอมนี้ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร?

โรงไฟฟ้ายิวเคลียร์ ฟิลลิปปินส์ อาเซียน
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Bataan ที่ฟิลิปปินส์ ที่มา : Above the Philippines

ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ดีต่อโลกอย่างไร?

ใน COP28 ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมเห็นชอบกับการสนุนการลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ในการประชุม World Economic Forum 2024 ก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าสะอาดที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ และมีเสถียรภาพสูง โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ มีข้อดีคือ

-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.5 พันล้านตัน CO2e ต่อปี เทียบเท่าการใช้ก๊าซธรรมชาติ 1.8 แสนล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

-เป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพในการผลิตสูงมาก เมื่อเทียบกับพลังงานทางเลือกประเภทอื่น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานมหาสมุทร ที่พึ่งพิงสภาพอากาศในแต่ละวันสูงมาก ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังมากถึง 90% ของเวลาการเดินเครื่อง

-คุ้มค่ากว่าพลังงานฟอสซิลในระยะยาว แม้การลงทุนตั้งต้นจะมีมูลค่ามหาศาล แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถเดินเครื่องได้ยาวนาน 20 ถึง 40 ปี โดยมีความพยายามที่จะขยายระยะเวลาการทำงานออกไปให้ยาวถึง 60 หรือ 80 ปี อย่างเช่นในฝรั่งเศสขณะนี้ เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าของการลงทุนในระยะยาว

-เข้าถึงเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ง่ายขึ้น ลงทุนน้อยลง จากเดิมการผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 2  พันล้านดอลลาร์ ถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (7.3 หมื่นล้านบาท - 5.1 แสนล้านบาท) ปัจจุบันมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบ ‘โมดูลขนาดเล็ก (Small Modular Reactors - SMR)’ ที่มีขนาดน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ (ราว 1 ใน 3 ของโรงปกติ) สนนราคาที่ราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 5.5 หมื่นล้านบาท)

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พลังงาน คาร์บอน
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 3 ขนาด แบ่งตามกำลังการผลิต ที่มา : IAEA

เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือกไม่สามารถทำได้ทันที แม้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติอย่างมหาศาล แต่ผลกระเทียบที่จะตามมาคือเสถียรภาพทางพลังงานที่สั่นคลอน

คิดภาพว่าประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด 100% แต่ผลที่ตามมาคือ ต้องเผชิญกับปัญหาไฟตกทุก 20 นาที ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตที่ขัดข้องเป็นเวลาไม่กี่นาที กระทบรายได้จากผลผลิตมูลค่าหลายล้านบาท และที่สำคัญ กระทบความเชื่อมั่นของบริษัทต่างชาติที่เลือกไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญระดับโลก ไทยเรา รวมถึงทุกประเทศทั่วโลกจึงต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างการเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าสีเขียวเพื่อโลก และการรักษาเสถียรภาพทางพลังงาน

ด้วยโจทย์เช่นนี้จึงทำให้ นิวเคลียร์ถูกจับตามองในฐานะตัวละครสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตไฟฟ้าสีเขียวจากพลังงานทางเลือก โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะทำหน้าที่รักษากำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ในขณะที่ฝ่ายผลิตลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ควบคู่ไปกับการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม มหาสมุทร ฯลฯ ทำให้พลังงานสะอาดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และเอาชนะพลังงานฟอสซิลได้ในอนาคต

คาร์บอนไวซ์ Carbonwize แพลตฟอร์มคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

แล้วทำไมไทยเรายังไม่มี ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ของตัวเอง

ประเทศไทยเรามีแผนที่จะตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาอย่างยาวนานกว่า 57 ปีแล้ว และแผนนี้แม้จะถูกหยิบมาพูดถึงกันใหม่อยู่หลายครั้ง อย่างเช่นในปี 2534 และ 2550 แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ อันเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ ส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของภาคประชาชน อาทิ ความกังวลถึงความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การจัดการกับซากสารกัมมันตรังสี และที่สำคัญ อันตรายจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ดังเช่นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในสหภาพโซเวียต หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในญี่ปุ่น รวมถึงการนำวัสดุนิวเคลียร์ไปใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ซึ่งปัญหานี้ต้องอาศัยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ควบคู่ไปกับการสื่อสารเรื่องมาตรฐานและการกำกับดูแลที่รัดกุมอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงถึงความโปร่งใส และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

นอกจากนี้ หากพิจารณาในมิติของความคุ้มค่า และกำลังการผลิตไฟฟ้าในบ้านเราแล้ว ในตอนนี้ ‘ไทยยังไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์’

ไฟฟ้า นิวเคลียร์ ถ่านหิน พลังงาน
ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งาน และ กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ที่มา : K-Research

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยว่า หากมองด้านความคุ้มค่าระยะยาว การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์มีต้นทุนสูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งอื่น โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา มีต้นทุนอยู่ที่ 180 ดอลลาร์สหรัฐ/MWh สูงกว่าถ่านหิน  1.5 เท่า สูงกว่าก๊าซธรรมชาติ 2.6 เท่า และสูงกว่าโซลาร์ 3 เท่า และหากมองในแง่ของกำลังการผลิตไฟฟ้าปัจจุบัน ไทยเองก็มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศเกิดกว่าความต้องการสูงสุดอยู่ 1.68 หมื่นเมกะวัตต์ คิดเป็น 34% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เทียบได้กับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ถึง 16 โรง

การพิจารณาจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังต้องย้อนกลับไปคำนึงถึงโจทย์หลักเรื่องความเร่งด่วนของการเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าของไทย ไปสู่พลังงานที่สะอาดมากขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องพิจารณาควบคู่กันไป ให้ภาคพลังงานของไทยขยับตัวได้ทันเวลา

หากเรานั่งไทม์แมชชีนข้ามเวลาไปยังอนาคต ในวันที่ไทยมีความพร้อมในทุกด้าน และสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้สำเร็จจริง จะเกิดผลกระทบอะไรต่อประเทศบ้าง?

ถ้าไทยเรามี โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จริงๆ …

ตอนนี้ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่ทั้งหมด 438 แห่ง มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันเกือบ 4 แสนล้านเมกะวัตต์ นับจากวันที่ไทยสนใจตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งแรก มาจนถึงวันนี้ มีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ผุดขึ้นใหม่แล้ว 374 แห่ง ทั่วโลก ยังไม่รวมที่กำลังก่อสร้างอีก 61 แห่ง ณ ขณะนี้ แม้จะยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าไทยตกขบวน แต่จะเป็นการดีแค่ไหน ถ้าเราร่วมขบวนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเช่นนี้ ในเวลาที่เหมาะสม?

ในอนาคตอันใกล้ที่เรามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยผลักดันให้ไทยมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้น เราอาจได้เห็นภาพเหล่านี้

พลังงานไฟฟ้า ถ่านหิน เชื้อเพลิงฟอสซิล ประเทศไทย
สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ของไทย ที่มา : EPPO

-ไทยพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากต่างชาติน้อยลง : จากปัจจุบันที่ไทยเรานำเข้าถ่านหินมาผลิตพลังงาน และนำเข้าไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านรวมกันคิดเป็นราว 26% ของไฟฟ้าทั้งหมด การที่ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเองได้มากขึ้นผ่านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่เพียงลดสัดส่วนพลังงานฟอสซิล แต่ยังลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างชาติ รวมถึงลดปัญหาค่าไฟแพง ในช่วงที่ราคาพลังงานโลกพุ่งสูงด้วย

-เป็นฮับไฟฟ้าพลังงานสีเขียวของภูมิภาค : ในวันที่ไทยมีกำลังการผลิตมากเพียงพอจนเกินกว่าความต้องการในประเทศมากๆ  ไทยก็สามารถส่งออกพลังงานไฟฟ้าสีเขียวนี้ให้เพื่อนบ้านอาเซียน เร่งการเข้าถึงพลังงานสะอาดของทั้งภูมิภาค

-ช่วยให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น : เมื่อประเทศมีเสถียรภาพเรื่องการผลิตไฟฟ้า ผสานกับการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมกับการช่วยให้เพื่อนบ้านลดการใช้พลังงานฟอสซิลด้วยแล้ว มลพิษทางอากาศซึ่งรวมถึง ‘PM2.5’ ก็จะลดลง คืนอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน

-จุดขายใหม่ดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติ : ชูจุดขายซัพพลายเชนสีเขียว ให้บริการพลังงานสีเขียวควบคู่กับโลจิสติกส์สีเขียว ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเลือกลงทุนในประเทศไทย สอดคล้องกับยุคที่องค์กรระดับโลกต้องการปฏิวัติให้ทั้งซัพพลายเชนปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด

คาร์บอนไวซ์ Carbonwize คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอนาคตที่น่าจับตามองทั้งสำหรับคนในแวดวงพลังงาน และในฐานะโซลูชั่นสำคัญที่สู่ความยั่งยืน ในขณะที่เรากำลังตั้งตารอความเป็นไปที่พลังงานสะอาดชนิดนี้ถูกนำมาขับเคลื่อนประเทศไทย ยังมีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์อื่นๆ ที่ก็กำลังพัฒนาควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ การใช้พลังงานนิวเคลียร์เข้าไปผสมผสานกับกระบวนการผลิต ‘กรีนไฮโดรเจน’ แหล่งพลังงานสะอาดแห่งอนาคตอีกชนิดหนึ่ง และ ‘เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น’ ที่หากได้นำมาใช้จริงในเชิงพาณิชย์ จะขจัดปัญหาเรื่องการจัดการกับซากกัมมันตรังสีได้ทันที ทำให้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ เป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง

คาร์บอนไวซ์ Carbonwize แพลตฟอร์มคาร์บอน คาร์บอนฟุตพริ้นท์
Carbonwize (คาร์บอนไวซ์) แพลทฟอร์มจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประเมินง่าย ตรวจสอบได้ รายงานความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล อาทิ CFO • ISO14064 • GHG Protocol • CBAM • SBTI

และในระหว่างที่เรากำลังเฝ้ารอนวัตกรรมพลังงานสะอาดเช่นนี้ พวกเราก็สามารถมุ่งหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ด้วยกันได้ทันที โดยการประเมินผลกระทบต่อโลกขององค์กรของเรา ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์  ซึ่งปัจจุบันทำได้สะดวกมากขึ้น ด้วยแพลตฟอร์มประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่าง Carbonwize เพื่อให้องค์กรของคุณสามารถติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุกกิจกรรมขององค์กรได้ และหาโซลูชั่นส์สีเขียวมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้น เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อโลก ซึ่งบ่อยครั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนที่เสียเปล่า ด้วยการปรับปรุงคุณภาพการผลิตและการใช้พลังงานได้อีกด้วย

เกี่ยวกับคาร์บอนไวซ์

Carbonwize เป็น One-stop service ให้บริการการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การบริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริการแพลทฟอร์มติดตามก๊าซเรือนกระจก และบริการจัดหาผู้ทวนสอบในระดับประเทศและอินเตอร์เนชันแนล Carbonwize ไม่เพียงช่วยติดตามและจัดทำรายงานตามมาตรฐานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อีกด้วย

แหล่งที่มา : IAEA, Energy Post, World Nuclear, Institut Montaigne, กกพ, K-Research, BBC, NBP, EPPO, Asian Power, NEI, IEA, LSE, Le Monde, ourworldindata, Statista

ติดตามข่าวสารด้านความยั่งยืนเพิ่มเติม

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ 'องค์กร' และ 'ผลิตภัณฑ์' รายงานอย่างไร รูปแบบไหนที่เหมาะกับองค์กรของคุณ

Carbon Footprint (คาร์บอน ฟุตพริ้นท์) คืออะไร? พร้อมวิธีคำนวณที่ธุรกิจต้องรู้

"CBAM" คืออะไร? ทำความรู้จักมาตรการภาษีคาร์บอน ก้าวสำคัญของตลาดส่งออก

เทคนิคการประยุกต์ความยั่งยืนสู่ธุรกิจ