อะลูมิเนียมรีไซเคิล S-Curve ใหม่ของไทย
‘อะลูมิเนียม’ วัตถุดิบสำคัญของภาคการก่อสร้าง ยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร และบรรุภัณฑ์ ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นด้านความทนทาน น้ำหนักเบา ไม่เป็นสนิม รวมถึงความสามารถในการถูกรีไซเคิลได้ไม่รู้จบแต่ยังรักษาคุณภาพไว้ได้คงเดิม ในปี 2020 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการใช้งานอะลูมิเนียมทะลุ 86 ล้านตัน หรือคิดเป็นเฉลี่ย ‘วันละ 2.3 แสนตัน’ ด้านประเทศไทย แม้จะไม่มีโรงถลุงอะลูมิเนียมต้นทาง แต่ก็เป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค ประเทศไทยมีส่งออกอะลูมิเนียมอยู่ที่ประมาณ 400,000 ตัน ในปี 2022 โดยมีการส่งออกไปยังฝั่งยุโรป 4-5% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 4,000 ล้านบาท
กระบวนการผลิตอะลูมิเนียมปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงกว่าโลหะ และวัสดุก่อสร้างหลายชนิด การผลิตอะลูมิเนียม 1 ตันทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ประมาณ 8 ตัน CO2e สูงกว่าการผลิตเหล็ก 4 เท่า สูงกว่าการผลิตไม้จริง 100 เท่า อะลูมิเนียมจึงถูกจับตามองในฐานะสินค้าคาร์บอนสูง และถูกจัดเป็นหนึ่งในสินค้าตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามมาตรการ CBAM ของทั้ง US-CBAM และ EU-CBAM อันจะนำมาสู่ภาระต้นทุนทางคาร์บอนที่เพิ่มขึ้น สำหรับตลาดทางฝั่งสหรัฐ และยุโรป
ด้วยดีมานด์ที่โตแรงต่อเนื่อง แต่แฝงด้วยคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง เป็นโอกาสให้ ‘อะลูมิเนียมรีไซเคิล’ ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่าอะลูมิเนียมถลุงใหม่ แต่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำกว่าถึง 95% กลายมาเป็นคำตอบสำหรับทั้งความต้องการที่เพิ่มขึ้น และภารกิจสู่ Net Zero ของนานาประเทศ และยังอาจเป็นโอกาสให้กับประเทศไทย ที่เข้มแข็งเรื่องการรีไซเคิลอะลูมิเนียมด้วย
ผลกระทบจาก CBAM ต่ออุตสาหกรรมอะลูมิเนียม
มาตรการ CBAM หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนที่กำลังจะเริ่มบังคับใช้โดยสหภาพยุโรป ส่งผลกดดันให้ผู้ผลิตที่ต้องการส่งสินค้าไปยังตลาดยุโรป ต้องวางแผนปรับลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสินค้าเพื่อลดแรงกระแทกจากค่าปรับทางคาร์บอน แต่ก็ถือเป็นโอกาสให้กับกลุ่มสินค้ารีไซเคิลที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่จะช่วงชิงความได้เปรียบจากช่องว่างด้านค่าใช้จ่ายทางคาร์บอน ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ เทียบระหว่างสินค้าคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูง และต่ำ เป็นดังนี้
กรณีที่ 1 : ผลกระทบจาก CBAM ต่อการส่งออกอะลูมิเนียมถลุงใหม่ (Primary Aluminium)
- ‘อะลูมิเนียมอัลลอยอินกอต 1 ตัน’ สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 1.19 ตัน CO2e
>> หากส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 10,000 ตัน จะคิดเป็น 1.19 หมื่นตัน CO2e
-ราคาคาร์บอนของ EU-ETS (มีนาคม 2024) : ราว 60 ยูโร (2,354 บาท) ต่อตัน CO2e
>> ค่าใช้จ่ายทางคาร์บอนที่จะต้องจ่ายเพิ่ม 28 ล้านบาท
กรณีที่ 2 : ผลกระทบจาก CBAM ต่อการส่งออกอะลูมิเนียมรีไซเคิล (Secondary Aluminium)
- ‘อะลูมิเนียมอัลลอยอินกอตรีไซเคิลจากเศษกระป๋องอะลูมิเนียม 1 ตัน’ สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.281 ตัน CO2e
>> หากส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 10,000 ตัน จะคิดเป็น 2,810 ตัน CO2e
-ราคาคาร์บอนของ EU-ETS (มีนาคม 2024) : ราว 60 ยูโร (2,354 บาท) ต่อตัน CO2e
>> ค่าใช้จ่ายทางคาร์บอนที่จะต้องจ่ายเพิ่ม 6.61 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า อะลูมิเนียมรีไซเคิลซึ่งสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำกว่า จะเสียค่าใช้จ่ายทางคาร์บอนจากมาตรการ CBAM ราว 1 ใน 4 ของที่อะลูมิเนียมถลุงใหม่ต้องจ่าย จุดเด่นของอะลูมิเนียมรีไซเคิล สำหรับทั้งฝั่งผู้ซื้อก็คือ ราคาที่ถูกกว่าแต่มีคุณภาพเทียบเท่าอะลูมิเนียมถลุงใหม่ ส่วนในฝั่งของผู้ขายนั้น ก็ช่วยลดต้นทุนด้านคาร์บอนไปได้อย่างมาก
ในมุมหนึ่ง มาตรการการจำกัดผลิตภัณฑ์คาร์บอนสูงอย่างเช่น CBAM กลายมาเป็นความท้าทายให้กับผู้ผลิตตลอดทั้งซัพพลายเชน แม้ภาคอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมประเทศไทย จะมีสินค้าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปน้อย จึงได้รับผลกระทบจาก EU-CBAM ไม่มาก แต่ตลาดส่งออกใหญ่ของอะลูมิเนียมไทยอย่างสหรัฐอเมริกา ก็เตรียมบังคับใช้นโยบาย US-CBAM ซึ่งมีสาระสำคัญใกล้เคียงกับทางฝั่งยุโรป มีจุดที่คล้ายคลึง และแตกต่างกัน ดังนี้
เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง EU-CBAM และ US-CBAM ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การบังคับใช้มาตรการ CBAM อาจกลายเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยที่ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบด้านภาษีคาร์บอนที่ต่ำกว่าสินค้าของคู่แข่งชาติอื่นที่ใช้อะลูมิเนียมถลุงใหม่ รวมถึงผู้ผลิตท้องถิ่นเองด้วย โดยตลาดสำคัญของอะลูมิเนียมไทยได้แก่ จีน อินเดีย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
โอกาสของ ‘อะลูมิเนียมรีไซเคิล สัญชาติไทย’
ประเทศไทยเราไม่มีเหมือง และอุตสาหกรรมถลุงแร่อะลูมิเนียม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอะลูมิเนียมของไทยจึงเน้นไปที่การนำเข้าอะลูมิเนียมบริสุทธิ์จากออสเตรเลียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ปริมาณ 3-4 แสนตัน/ปี และรีไซเคิลอะลูมิเนียม ซึ่งไทยเราเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโรงงานที่ขึ้นรูปและรีไซเคิลอะลูมิเนียมอย่างครบวงจร โดยอะลูมิเนียมราว 75% ถูกรีไซเคิลซ้ำแล้วซ้ำเล่า และหมุนเวียนอยู่ในวงจรการผลิต เป็นต้นแบบของ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ
กระบวนการการรีไซเคิลอะลูมิเนียม ที่มา : สยามเซอร์วิส แอนด์ คอนซัลแทนซี่
ลองมองไปรอบตัวของคุณในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรอบประตู หน้าต่าง กระป๋องน้ำอัดลม รถยนต์ เครื่องครัว ล้วนมีส่วนผสมของอะลูมิเนียมรีไซเคิล
ความต้องการใช้อะลูมิเนียม ณ ขณะนี้ เติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังแบตเตอรี่ทำให้ต้องลดน้ำหนักโครงสร้างเพื่อให้รถวิ่งได้ไกลที่สุด จากปกติที่รถยนต์สันดาปใช้อะลูมิเนียม 20 - 30 กก. ต่อคัน รถอีวีต้องใช้อะลูมิเนียมเพิ่มเป็น 200 กก. ต่อคัน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสีเขียว เช่นแผงโซลาร์เซลล์ และกังหันลม ที่ใช้แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงาน ล้วนต้องใช้อะลูมิเนียมทั้งสิ้น อะลูมิเนียมจึงถือได้ว่าเป็นโลหะแห่งอนาคตควบคู่กับการเติบโตของเทคโนโลยีสีเขียวอย่างแท้จริง
จุดเด่นของอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมในประเทศไทยคือแรงงานฝีมือคุณภาพสูง ค่าแรงที่ยังแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค มีอุตสาหกรรมกลางน้ำ ปลายน้ำที่ครบครัน ไม่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่อะลูมิเนียมที่ต้องประคับประคองในยุคของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะเป็นจุดแข็งทันทีในยุคที่ความต้องอะลูมิเนียมและสินค้าคาร์บอนต่ำดีดตัวขึ้น
McKinsey & Company ประเมินความต้องการการของอะลูมิเนียมคาร์บอนต่ำและอะลูมิเนียมรีไซเคิลในปี 2025 ว่าจะเป็น 41 ล้านตัน และเติบโตขึ้นเป็น 62 ล้านตันในปี 2030 สูงเกินครึ่งหนึ่งของความต้องการอะลูมิเนียมทั่วโลกในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสสำคัญให้อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมรีไซเคิลไทยเข้าไปเติมเต็ม
ความท้าทายของอะลูมิเนียมรีไซเคิลไทย
แม้อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมไทยจะมีอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมกลางน้ำ ปลายน้ำที่ค่อนข้างครบครัน รวมถึงธุรกิจรีไซเคิลที่แข็งแกร่งระดับภูมิภาค แต่ความท้าทายต้องจับตามองได้แก่
สถานการณ์อะลูมิเนียมโลก
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสองตลาดอะลูมิเนียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้อย่างสหรัฐ และจีน กระทบตลาดอะลูมิเนียมไทยทั้งขาเข้า และขาออก โดยปัญหาซัพพลายล้นตลาดจากประเทศจีน ทะลักเข้ามาสู่ประเทศไทยในราคาต่ำ ตัดราคาอะลูมิเนียมในประเทศ และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐ กระทบการนำเข้าอะลูมิเนียมจากประเทศไทย ประกอบกับการเพิ่มกำลังการผลิตจนเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาการผลิตหดตัว
ไม่เพียงเท่านั้น แม้โครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลอะลูมิเนียมในไทยจะเด่นกว่าในภภูมิภาค แต่กลับประสบปัญหา ‘เศษอะลูมิเนียมรั่วไหล’ เพราะถูกส่งออกไปยังเกาหลีและจีน จนไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ต้องนำเข้าเศษอะลูมิเนียมจากกัมพูชา สหรัฐ อังกฤษ และประเทศอื่น หากมองไปยังเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย สองประเทศนี้ได้ใช้มาตรการกำแพงภาษีส่งเศษอะลูมิเนียมเพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุดิบที่สามารถรีไซเคิลได้เหล่านี้ไหลไปยังประเทศอื่น
ความเสี่ยงจากการเร่งผลิตอะลูมิเนียมรีไซเคิลในประเทศคู่แข่ง
ในตอนนี้ ไทยยังถือว่ามีความได้เปรียบเรื่องการผลิตสินค้าอะลูมิเนียมจากอะลูมิเนียมรีไซเคิล บวกกับต้นทุนที่ถูกลงเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในอนาคตที่ความต้องการอะลูมิเนียมคาร์บอนต่ำและอะลูมิเนียมรีไซเคิลถีบตัวสูงขึ้น มีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศส่งออกอะลูมิเนียมอื่นๆ จะหันไปเร่งการผลิตอะลูมิเนียมจากอะลูมิเนียมรีไซเคิลเช่นเดียวกัน
จุดเด่นที่จะทำให้ไทยเหนือกว่าประเทศผู้ส่งออกอะลูมิเนียมรายอื่นได้ คือ การเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการแยกเศษโลหะ และเทคโนโลยีการรีไซเคิลในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการรีไซเคิลอะลูมิเนียมให้ถูกลง โดยอีกภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปคือ ภาคการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งจะยิ่งช่วยลดการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกระบวนการรีไซเคิลลงไปอีก เกิดเป็นผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำพิเศษ ในราคาที่แข่งขันได้กับประเทศอื่น
ดังเช่นนวัตกรรมการแยกเศษโลหะด้วยระบบเซนเซอร์ X-ray ของบริษัท Steinert ในเยอรมนี ที่ใช้ระบบอัตโนมัติในการแยกอะลูมิเนียมอัลลอยประเภทต่างๆ และโลหะชนิดต่างๆ ออกจากเศษโลหะที่รวมกันมาจากต้นทาง ทำให้การรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้โลหะรีไซเคิลที่มีความบริสุทธิ์สูงขึ้นเมื่อนำไปหลอมใหม่ ลดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยก
เตรียมความพร้อมสู่ธุรกิจในยุคคาร์บอนต่ำ
ภาคอะลูมิเนียมไทยสามารถเปลี่ยน ‘จุดแข็ง’ ที่มีให้กลายเป็น ‘จุดขาย’ ได้ ผ่านตัวเลข ‘คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP)’ และ ‘คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO)’ ดังจะเห็นได้ว่า การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังจะกลายเป็นหนึ่งต้นทุนสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจต้องตัดสินใจเลือกซัพพลายเออร์รายที่ทั้งมีคุณภาพดี ราคาที่แข่งขันได้ และสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำด้วย
การเตรียมข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละขั้นตอนของกิจกรรมทางธุรกิจ สำหรับส่งต่อให้กับซัพพลายเออร์ในขั้นต่อไป อำนวยความสะดวกด้วยแพลทฟอร์มจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่าง Carbonwize เตรียมพร้อมสำหรับการขอรับรองมาตรฐานทั้งในไทย และระดับสากล อาทิ การรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (TGO) การรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (TGO) การรับรองมาตรฐาน ISO 14064 และ ISO 14067
ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้ลูกค้าบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุนทางคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมิณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ของลูกค้าเอง โดยเฉพาะกับบริษัทใหญ่ที่ต้องเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งซัพพลายเชน เพื่อมารายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และนำมาวางแผนพัฒนาซัพพลายเชนให้สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ธุรกิจอะลูมิเนียมไทยเป็นกรณีศึกษาที่ดีของธุรกิจที่กำลังเผชิญทั้งโอกาสและอุปสรรคใหม่จากการบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจต้องปรับตัวให้ล้อไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในยุคที่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องหดตัวลง ผลิตภัณฑ์อย่าง ‘อะลูมิเนียมรีไซเคิล’ จะเป็นตัวพลิกเกมสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมไทยยยังคงเติบโตตามความต้องการใหม่ๆ ของโลกได้
แล้วธุรกิจที่คุณทำอยู่ถูกผลกระทบจากนโยบายสีเขียวของประเทศหรือของนานาชาติหรือไม่ และสินค้าหรือวิธีการทำธุรกิจแบบใหม่ที่จะกลายเป็นทางรอดของธุรกิจของคุณในยุคแห่งความยั่งยืนคืออะไร?
เกี่ยวกับคาร์บอนไวซ์
Carbonwize เป็น One-stop service ให้บริการการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การบริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริการแพลทฟอร์มติดตามก๊าซเรือนกระจก และบริการจัดหาผู้ทวนสอบในระดับประเทศและอินเตอร์เนชันแนล Carbonwize ไม่เพียงช่วยติดตามและจัดทำรายงานตามมาตรฐานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อีกด้วย
ที่มา : ประชาชาติ, เดลินิวส์, Recycling Magazine, TGO, Al Circle, ฐานเศรษฐกิจ, 8 Billion Trees, McKinsey, WEF