หรือโลกร้อน จะเป็นเรื่องโกหก?

โลกร้อน โลกเดือด Global Warming GHG Carbonwize
หรือโลกร้อน (Global Warming) จะเป็นเรื่องโกหก? - Carbonwize

ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรามักจะพูดถึงอยู่บ่อย ซึ่งโลกร้อนในทุกวันนี้ได้กลายเป็นเทรนด์ที่คนยุคใหม่ต่างสนใจ จนนำมาสู่การขับเคลื่อนต่าง ๆ และรวมไปถึงเป็นวาระระดับโลกที่นานาชาติร่วมกันแก้ไข เช่น การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนที่การใช้เครื่องยนต์สันดาป, ใช้สินค้าที่มีฉลากประหยัดพลังงาน, ใช้สีทาบ้านเย็น, ลดการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภาครัฐและเอกชน

แล้วโลกของเรากำลังร้อนขึ้นจริง ๆ ใช่ไหม?

โลกร้อนมีจริงไหม?


ก่อนจะพิสูจน์ว่าโลกร้อนจริงไหม เราต้องไปดูนิยามของโลกร้อนกันก่อน โดยศูนย์ภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาได้ให้นิยามไว้ว่า

สภาวะโลกร้อน (หรือที่คุ้นหูกันในคำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’) คือ สภาวะที่โลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับมาจากดวงอาทิตย์ออกไปได้ตามปกติ ทำให้ความร้อนถูกเก็บสะสมภายในโลก จนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

จากคำนิยามเราสรุปสั้น ๆ ได้ว่า โลกร้อน คือ สภาวะที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมาก ๆ ในเมืองไทยก็คงจะเป็นช่วงตุลาคม-กุมภาพันธ์ หรือที่เราเรียกว่าฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศเราจะหนาวที่สุดในรอบปี สำหรับคนที่เกิดในช่วงไม่เกิน 10 ปีอาจจะคิดว่าเมืองไทยมีฤดูหนาวด้วยเหรอ นึกว่ามีแค่ฤดูร้อน, ฤดูร้อนมาก กับฤดูร้อนสุด ๆ เสียอีก ฤดูหนาวมาทีไร ไม่รู้ว่าอากาศเย็นหรือบังเอิญลืมเปิดตู้เย็น

แต่สำหรับวัยรุ่น 90 ทุกท่านน่าจะจำความรู้สึกกันได้ว่าประเทศไทยเคยมีช่วงเวลาที่อากาศเย็นติดต่อกันนานเป็นเดือน หนาวจนเราเห็นการประลองแฟชั่นเสื้อกันหนาวกันในโรงเรียนได้แทบทุกวัน ประหนึ่งเมืองไทยมีหิมะตก แต่สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปจากเดิมแบบสุดขั้วจนเป็นแบบในปัจจุบัน นี่คือหลักฐานที่บอกเราว่าโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม

ผลกระทบจากโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิต หลายคนอาจเคยเห็นภาพหมีขั้วโลกยืนเหม่อบนแผ่นน้ำแข็งก้อนเล็กจิ๋ว ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนมากภาพหนึ่ง เมื่อโลกร้อนขึ้น ก็ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย แต่เมืองไทยเราอยู่ตั้งแถบเส้นศูนย์สูตรห่างไกลจากขั้วโลกเป็นนับหมื่นกิโลเมตร ก็อาจจะมีบางคนที่คิดว่าไกลตัวอยู่บ้าง

ถ้าให้ลองยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวมากขึ้น ผู้เขียนนึกถึงข่าวหนึ่ง ที่วัดขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่ง ซึ่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะและคลื่นลมแรงจากภาวะโลกร้อน ทำให้พื้นที่บางส่วนจมหาย คงเหลือเพียงยอดของเสาไฟฟ้า ที่โผล่พ้นน้ำ

Climate Change Carbonwize
เสาไฟฟ้าที่จมลงน้ำในบริเวณวัด (ที่มา: https://themomentum.co/wat-khun-samut-chin/)

ปัจจุบัน มีหน่วยงานทำหน้าที่ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างเช่น The Met Office Hadley Centre หน่วยงานภายใต้กรมอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักร ทำหน้าเก็บข้อมูลทางสถิติของอุณหภูมิเฉลี่ย, อุณหภูมิพื้นผิว และอุณหภูมิผิวน้ำจากทั่วโลก ร่วมกับพันธมิตรระดับนานาชาติ

ข้อมูลที่ Hadley center ได้รวบรวมมานั้น สะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ของอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

  1. อุณหภูมิเฉลี่ยและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ : สะท้อนถึงผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน, ประเภทของพืชที่สามารถปลูกได้, การออกแบบอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน, การระบาดของโรคและศัตรูพืช และปัญหาสุขภาพของประชากร
  2. อุณหภูมิของน้ำทะเล : มีบทบาทสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล อุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเล ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว การพัฒนาของพายุที่จะก่อตัวบริเวณที่อุ่นกว่าของน้ำทะเลเท่านั้น รวมถึงการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเอลนีโญ (El Niño) และ ลานีญา (La Niña)
Global Warming Carbonwize คาร์บอนไวซ์
อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 200 ปีมานี้ (ที่มา : https://climate.metoffice.cloud/temperature.html)
โลกร้อน โลกเดือด คาร์บอนไวซ์ Carbonwize
อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในช่วง 200 ปีมานี้ (ที่มา : https://climate.metoffice.cloud/temperature.html)

คลื่นความร้อน ภัยอันตรายใกล้ตัว

เราจะเห็นได้ว่าอุณหภูมิของโลกในช่วงนี้กำลังร้อนขึ้นมาก ๆ ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นนี้เอง ก็ได้ส่งผลกระทบหนึ่งที่สำคัญอย่าง “คลื่นความร้อน” ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางอุณหภูมิและความชื้น เมื่อพื้นที่หนึ่ง ๆ มีอุณหภูมิและความชื้นพุ่งสูงขึ้นติดต่อกันหลาย ๆ วัน จนทำให้กลไกการระบายความร้อนภายในร่างกายมนุษย์ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอุบัติการณ์คลื่นความร้อนนี้ถือเป็นอุบัติการณ์ที่สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตประชากร และพืชผลในบริเวณนั้น ซึ่งคลื่นความร้อนเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่ไหลเวียน ทำให้เกิดโดมอากาศร้อนลอยตัวเหนือพื้นดิน ครอบคลุมพื้นที่ติดต่อกันหลายวัน

ความเสียหายของคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นนั้น อาจมีตั้งแต่คนเป็นลมแดดมากขึ้น ไปจนถึงพบผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อน ดังนั้น ปรากฏการณ์ 'คลื่นความร้อน' จึงไม่เพียงส่งผลทำให้อากาศร้อนขึ้นเท่านั้น แต่เป็นภัยพิบัติรุนแรงที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง

คลื่นความร้อน โลกร้อน โลกเดือด คาร์บอนไวซ์ Carbonwize
สถิติความถี่และความรุนแรงของคลื่นความร้อนในพื้นที่สหรัฐอเมริกา (ที่มา :https://www.epa.gov/climate-indicators/climate-change-indicators-heat-waves)

อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิของโลกก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างช้าๆ ตามวัฏจักรหนาวสลับอุ่น (glacial and interglacial cycles) ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติอยู่แล้ว โดยขึ้นอยู่ปัจจัยแวดล้อมดังนี้

  1. ปริมาณการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งอาจเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ, การตกของอุกกาบาตขนาดใหญ่, การขยายตัวของพื้นที่ป่า โดยปัจจัยหลาย ๆ อย่างมีทั้งเพิ่ม-ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การขยายตัวของธารน้ำแข็งขั้วโลกและระดับของน้ำทะเล ที่ส่งผลต่อ ปริมาณการสะท้อนแสงของธารน้ำแข็งและพื้นมหาสมุทร (Ice–albedo feedback) ซึ่งส่งผลต่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลก โดยบริเวณที่ธารน้ำแข็งปกคลุมจะสะท้อนแสงอาทิตย์ได้มาก ทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าบริเวณอื่น ๆ

Climate Change เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ Carbonwize คาร์บอนไวซ์
การสะท้อนกลับของแสงอาทิตย์ และการดูดกลืนความร้อนของพื้นมหาสมุทร(ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Ice%E2%80%93albedo_feedback )

ปริมาณการได้รับแสงอาทิตย์ที่ไม่เท่ากันในแต่ละช่วงของวัฏจักรมิลานโควิตช์ (Milankovitch cycles) ซึ่งขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ดังนี้

  1. การโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก (Eccentricity)
  2. ความเอียงของโลก (Obliquity)
  3. การเคลื่อนตัวของแกนหมุนรอบตัวเอง (Axial Precession)
โลกร้อน อุณหภูมิ Carbonwize คาร์บอนไวซ์
ปริมาณแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบมายังโลกในช่วงหลายแสนปี, ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในธารน้ำแข็งอายุแสนปี และการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตลอดหลายแสนปี(ที่มา: https://www.ncei.noaa.gov/sites/default/files/2021-11/1%20Glacial-Interglacial%20Cycles-Final-OCT%202021.pdf)

จากหลักฐานหลาย ๆ อย่างยืนยันว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้วตามวัฎจักรของโลก

แล้วทำไมภาวะโลกร้อนในปัจจุบันของเราจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่ากังวล?

เหตุผลนั้น ต้องกลับไปดูที่ระยะเวลาการเพิ่ม-ลดอุณหภูมิของโลก จากกราฟแรกสุดที่แสดงถึงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสในระยะเวลาเพียง 200 ปีเท่านั้น แต่อุณหภูมิเฉลี่ยจากวัฏจักรหนาวสลับอุ่นที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ต้องใช้เวลาในหลักหมื่นปี! มนุษย์จึงกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น

แล้วอะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว?

คำตอบของคำถามนี้เราต้องย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ในช่วง 200 ปีก่อน ในยุคนั้นมนุษยชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นั่นคือ การปฎิวัติอุตสาหกรรม โดยในทศวรรษที่ 1850 เป็นช่วงยุคที่อุตสาหกรรมเฟื่องฟูมากที่สุด โรงงานอุตสาหกรรมและทุนนิยมกำลังเติบโตขึ้น ความต้องการสินค้าจำนวนมหาศาลได้สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ นานาประเทศต่างค้นหาตลาดและแหล่งทรัพยากร เช่น พื้นที่เกษตรกรรม เหมืองแร่ ป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ต่อมาในทศวรรษที่ 1870 เกิดปฎิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้ง ซึ่งเปลี่ยนจากการพึ่งพาเครื่องจักรไอน้ำมาสู่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

ที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่การเฟื่องฟูของโรงงานอุตสาหกรรมมาจนถึงยุคปัจจุบัน มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลและมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นในทุก ๆ ปี

Carbondioxide คาร์บอนไดออกไซด์ Carbonwize คาร์บอนไวซ์
ปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1850 - 2020 (หน่วย ppm)(ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Carbon_dioxide_in_Earth%27s_atmosphere#/media/File:Mauna_Loa_CO2_monthly_mean_concentration.svg)

จากปล่องควัน สู่เปลือกหอย

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้นเนื่องด้วยกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ได้ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศ หรือวิถีชีวิตของมนุษย์เท่านั้น แต่ผลกระทบนั้นส่งผ่านไปยังสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย เช่น เปลือกหอยที่อาศัยอยู่ในทะเล นักวิทยาศาสตร์พบว่า ตัวอย่างหอยที่พบในทะเลปัจจุบัน มีเปลือกที่บางกว่าตัวอย่างหอยสุขภาพดี ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีปริมาณมากขึ้นในอากาศ ละลายในน้ำทะเล กลายเป็น 'กรดคาร์บอนิก' (ชนิดเดียวกับที่อยู่ในน้ำอัดลม) ส่งผลให้น้ำทะเลมีฤทธิ์เป็นกรดมากขึ้น และกัดกร่อนหินปูนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเปลือกหอย

ทะเล สิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม Carbonwize คาร์บอนไวซ์
เปลือกหอยสุขภาพดี เปลือกหอยในทะเลปัจจุบัน (ที่มา: https://www.climate.gov/news-features/understanding-climate/climate-change-atmospheric-carbon-dioxide)

กรุงเทพและเมืองอีกหลายแห่งกำลังจะจมจริงหรือ?

จากวัฏจักรหนาวสลับอุ่น เราจะทราบได้ว่าระดับของคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้นตลอด 200 ปีมานี้ ส่งผลต่ออุณหภูมิของโลกให้เพิ่มสูงขึ้น และได้เร่งให้เกิดการละลายของธารน้ำแข็งทั่วโลก เกิดผลกระทบต่อเนื่องทำให้มีพื้นที่การสะท้อนแสงอาทิตย์น้อยลง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กระทบเมืองชายฝั่งและเมืองที่อยู่ในระดับต่ำหลายแห่งเสี่ยงจมบาดาล อาทิ เวนิส กรุงเทพมหานคร เนเธอร์แลนด์ และหมู่เกาะมัลดีฟ

ระดับความสูงน้ำทะเล Sea level rise Carbonwize คาร์บอนไวซ์
ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลของแต่ละประเทศ(ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_elevation_extremes_by_country)

องค์การนาซาได้เก็บสถิติการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในแต่ละปีพบว่าระดับของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นปีละ 4 มิลลิเมตร ถึงแม้ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นน้อยมาก ๆ แต่เมืองใหญ่หลายแห่งเองก็ค่อย ๆ จมน้ำทีละน้อย ดังเช่นกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลเพียง 1-1.5 เมตรเท่านั้น และกำลังทรุดตัวลงด้วยอัตราเร็ว 3 เซนติเมตร/ปี

ด้วยระยะการทรุดตัว และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ‘กรุงเทพมหานครจะจมน้ำ’ ด้วยเวลาไม่เกิน 78 ปี

หากเราขยับพื้นที่ออกไปจากตัวเมืองกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีพื้นที่ติดฝั่งอ่าวไทย ก็จะพบว่าชายทะเลฝั่งอ่าวไทยถูกกัดเซาะทุกปีด้วยอัตราเร็ว 1.5-2 นิ้วต่อปี ถึงแม้ว่าตัวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะออกแบบวิธีการระบายน้ำดีเพียงใด แต่เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้การระบายน้ำของกรุงเทพไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ก็ยังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังในทุกปี

น้ำท่วม เมืองจมน้ำ คาร์บอนไวซ์ Carbonwize
7 เมืองในเอเชียเสี่ยงจมใต้บาดาล (ที่มา : https://theactive.net/read/global-boiling-dangerous-sign/)
กัดเซาะชายฝั่ง โลกร้อน Carbonwize คาร์บอนไวซ์
การกัดเซาะของชายฝั่ง (ที่มา : https://theactive.net/read/global-boiling-dangerous-sign/)

ไม่เพียงแค่กรุงเทพมหานครเพียงเมืองเดียวเท่านั้น ยังมีเมืองอื่น ๆ อีกมากมายที่กำลังเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ที่พื้นที่ทั้งหมดของประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล หรือเมืองเวนิสที่เป็นเมืองแห่งสายน้ำก็กำลังเผชิญกับการทรุดตัวของเมือง ที่จะทำให้เมืองจมน้ำลงในทุกปี

นอกจากผลกระทบที่มีต่อตัวเมืองแล้ว ระบบนิเวศชายฝั่งเองก็มีปัญหาเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ทำให้ระดับของน้ำขึ้น-น้ำลงเปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตที่อาศัยได้เฉพาะในน้ำตื้นต้องถูกผลักดันให้เข้าสู่พื้นที่แผ่นดินตอนในมากขึ้น พื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะ ทำให้ไม่มีดินสำหรับต้นไม้ชายฝั่งยึดเกาะ

ระดับน้ำทะเล Sea level rise คาร์บอนไวซ์ Carbonwize
ระดับน้ำทะเลตั้งแต่ปี 1995-2020 (ที่มา: https://climate.nasa.gov/vital-signs/sea-level/?intent=121)

คำทำนายที่เป็นจริง

ในปี 2007 เริ่มมีการศึกษาและคาดการณ์ผลกระทบของภาวะโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำมาสู่การคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น ดังนี้

  1. ธารน้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย
  2. ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
  3. สภาพอากาศแปรปรวน
  4. การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ไม่สามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

ผลกระทบทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น โชคไม่ดีที่คำทำนายเหล่านี้ เกิดขึ้นจริงทั้งหมดแล้ว

นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบกับผลกระทบอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมา เช่น รังผึ้งกำลังร้อนขึ้น ส่งผลให้ผึ้งงานและผึ้งนางพญาในรุ่นถัดไปมีสุขภาพไม่แข็งแรง ซึ่งอาจนำมาสู่การล่มสลายของอาณานิคมผึ้งได้ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติอาจทำให้กระบวนการเมตาบอลิซึมในสัตว์เพิ่มมากขึ้น และยังทำให้โปรตีนที่สำคัญบางตัวเสื่อมสภาพเนื่องจากความร้อน ซึ่งนั่นจะส่งผลให้กระบวนการเมตาบอลิซึมหยุดลง ดังนั้นอุณหภูมิที่สูงของรังย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราการรอดชีวิตของผึ้ง ขณะเดียวกันมนุษย์เองก็ต้องพึ่งพิงพืชพวกนี้ในกระบวนการผลิตอาหาร หากจำนวนประชากรผึ้งหรือแมลงผสมเกสรลดลงย่อมสร้างความเสียหายต่อภาคส่วนในการผลิตของมนุษย์ได้

นอกจากผลกระทบที่มีต่อผึ้งที่ส่งผลต่อการผลิตอาหารในภาคการเกษตรและปศุสัตว์แล้ว ในภาคการประมงเองก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ในทะเล และยังส่งผลต่อการไหลของกระแสน้ำ ที่จะพัดพาเอาแร่ธาตุกับความอุดมสมบูรณ์ไปทำให้บางพื้นที่มีปลาชุกชุมด้วย

จากสถิติของกรมประมงกล่าวว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 ปริมาณการจับปลาของไทยลดลงร้อยละ 1.20 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชากรที่ดำรงชีพด้วยการทำประมงและกระบวนการผลิตอาหารของไทย

นโยบายและแผนรับมือของนานาประเทศ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าภาวะโลกร้อน ถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่ไม่สามารถมองข้ามได้ หากเราไม่เริ่มขยับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ในอนาคต โลกอาจไม่ใช่บ้านที่น่าอาศัยอยู่แล้วก็ได้

ดังนั้นเหล่าผู้นำประเทศจึงออกข้อบังคับเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญว่าอุณหภูมิของโลกจะไม่เพิ่มขึ้นไปมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยผู้นำจากหลากหลายประเทศร่วมกันลงนามในข้อตกลงร่วมกัน 2 ฉบับ คือ พิธีสารเกียวโต และข้อตกลงปารีส ซึ่งข้อตกลงทั้ง 2 จะเป็นไปตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือย่อเป็น UNFCCC หรือ FCCC)

จากข้อตกลงที่กำหนดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 2 ฉบับ ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องออกมาเคลื่อนไหว เพื่อออกข้อกำหนดทางกฎหมายและการสนุบสนุนภาคเอกชน ให้ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแต่ละประเทศมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจดังนี้

สิงคโปร์

สิงคโปร์ ออกแผนสิงคโปร์สีเขียว (Singapore Green Plan หรือ SGP) ซึ่งเป็นแผนในการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน 10 ปี (ค.ศ. 2021-2030) โดยเป้าหมายสำคัญของแผนฉบับนี้คือ

  • ยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ลดการปล่อยมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • การเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทน และเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
  • ส่งเสริมพลังงานทางเลือก และลดการใช้พลังงานลง 15%
  • ส่งเสริมการผลิตอาหารภายในประเทศ

โดยทางสิงคโปร์นั้นมีแผนดำเนินงานทั้งหมด 5 สาขาที่คอยกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศไว้ดังนี้

  1. City in Nature: การเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในประเทศอีก 50%
  2. Sustainable Living: การส่งเสริมธุรกิจหมุนเวียนและการพัฒนาเมืองสีเขียว รวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมกับเยาวชน
  3. Energy Reset: ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอีก 4 เท่าภายในปี ค.ศ. 2025 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือนอีก 5 เท่า, สนับสนุนการใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน, สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ. 2050
  4. Green Economy: ส่งเสริมธุรกิจและนวัตกรรมสีเขียว ผ่านการส่งเสริมด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม, ดึงดูดนักลงทุนให้ลงทุนภายในประเทศกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการลดคาร์บอน และการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization Technology) รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) เพื่อสนับสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
  5. Resilience Future: การออกโครงการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งรอบเกาะสิงคโปร์, การออกกฎหมายให้อาคารต้องทาสีอ่อนเพื่อลดอุณหภูมิและการดูดซับความร้อน, นโยบายความมั่นคงทางอาหาร 30 by 30 โดยรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านการเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกษตรในอาคาร (Indoor Farming) และการเกษตรเเนวตั้ง (Vertical Farming) ทั้งยังมีนโยบายดึงดูดสตาร์ทอัพด้าน FoodTech และ AgriTech จากทั่วโลก
Singapore Green Plan สิงคโปร์ Carbonwize คาร์บอนไวซ์
ที่มา : https://thaibizsingapore.com/singapore/green-plan/

ญี่ปุ่น

  • ญี่ปุ่น ออกนโยบาย Green Growth Strategy หรือการเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น ที่ควบคุมภาคเอกชนให้ดำเนินนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ แยกขยะ, การใช้พลังงานสะอาด (แสงอาทิตย์, ลม, น้ำ และความร้อนใต้พิภพ), รถยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมตลาดเสรีปลอดคาร์บอนภายในประเทศ ด้านเอกชนของญี่ปุ่นก็มีความเคลื่อนไหวและเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ในญี่ปุ่นอย่างนักเคลียร์ของ ที่ทำหน้าที่กำจัดสิ่งของปริมาณมากที่ไม่ได้ใช้แล้ว

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจนักเคลียร์ของมากกว่า 100,000 แห่ง ซึ่งของบางส่วนได้ถูกคัดไปจำหน่ายเป็นสินค้ามือสอง โดยสินค้ามือสองของญี่ปุ่น และได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก เห็นได้จากโกดังญี่ปุ่นที่ทยอยเปิดตัวในประเทศไทยหลายแห่ง

Green Growth Strategy Japan ญี่ปุ่น Carbonwize คาร์บอนไวซ์
Green Growth Strategy ของญี่ปุ่นที่มีจุดมุ่งหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งหมด 14 ด้าน (ที่มา: https://www.meti.go.jp/english/policy/energy_environment/global_warming/ggs2050/index.html)

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรป ออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งกำหนดให้กลุ่มธุรกิจ 7 กลุ่มคือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น สกรู และน็อตที่ทำจากเหล็ก รวมถึงสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Indirect Emissions) จำเป็นต้องรายงานการข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2026 ที่จะมีการออกใบรับรอง CBAM เพื่อป้องกันการรั่วไหลของสินค้าคาร์บอนสูงเข้ามายังสหภาพยุโรป

จีน

  • จีน เป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีนอยู่ที่ 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ดังนั้นเองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง  จึงลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนถึง 360,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมเดินหน้าเทคโนโลยีไฟฟ้าอย่างเต็มตัว และสนับสนุนการผลิตพลังงานลมกับพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าเดิม 3 เท่า เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 65% ในปี 2030 ก่อนจะเหลือศูนย์ในปี 2060

สหรัฐอเมริกา

  • สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับที่ 2 ของโลก โดยปล่อยมากถึง 15%  ได้ออกนโยบาย Clean Competition Act (CCA) ซึ่งจะเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน เอทานอล กรดอะดิพิก ซีเมนต์ กระจก อลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า รวมถึงกระดาษและเยื่อกระดาษ ซึ่งกฎหมายนี้จะบังคับใช้ในปี 2024

ฟินแลนด์

  • ฟินแลนด์ ถือเป็นประเทศแรกที่ออกแผนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Roadmap to a Circular Economy) ในปี 2016 มีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ธุรกิจหมุนเวียนอย่าง ‘Business Finland’ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐสำหรับการระดมทุนเพื่อส่งเสริมด้านนวัตกรรม การค้า การลงทุน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวของฟินแลนด์ ซึ่งรวมถึงการลงทุนด้านนวัตกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืน โดยส่งผลบังคับใช้ให้บริษัทเอกชนภายในประเทศ ต้องดำเนินนโยบายธุรกิจตามแผนการดำเนินงาน

    ตัวอย่างเช่น บริษัท Neste ที่เป็นบริษัทน้ำมันแบบดั้งเดิมของฟินแลนด์ ต้องลดการใช้น้ำมันดิบในกระบวนการผลิตน้ำมัน ปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตน้ำมันจากของเสีย หรือของเหลือใช้ ให้กลายมาเป็นวัตถุดิบทดแทนการผลิตแบบเดิม ทำให้บริษัทมีกำไรจากธุรกิจพลังงานทดแทน 94% ของกำไรทั้งหมด ทางกองทุนนวัตกรรมแห่งชาติ Sitra ของประเทศฟินแลนด์คาดว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศฟินแลนด์ มากกว่า 3 พันล้านยูโร ภายในปี 2030

ฝรั่งเศส

  • ฝรั่งเศส เป็นเมืองแห่งแฟชั่นที่สำคัญ เหล่าเซเลบ ดารา ต่างเดินทางมายังกรุงปารีส เมืองหลวงแห่งแฟชั่นเพื่อยลโฉมคอลเลกชั่นเสื้อผ้าใหม่ ๆ ทำให้ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากธุรกิจสิ่งทอปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2-8% และก่อให้เกิดน้ำเสียราว 20% ของน้ำเสียทั่วโลก

    รัฐบาลฝรั่งเศสจึงออกประกาศ Decree 2022-748 ภายใต้กฎหมายต่อต้านของเสียเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Anti-Waste for a Circular Economy Law : AGEC) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากระบุข้อมูลไว้บนเสื้อผ้า เป็นข้อมูลการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ แหล่งวัสดุที่นำมาผลิตเสื้อผ้า ระยะเวลาในการขนส่ง และสีที่ใช้ในการย้อมผ้า โดยประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับแบรนด์สิ่งทอทุกแบรนด์ในฝรั่งเศส โดยเริ่มใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการมากกว่า 50 ล้านยูโร ในเดือนมกราคม 2023 และจะทยอยนำไปใช้กับบริษัทขนาดเล็กในช่วงปี 2024 และ 2025

อังกฤษ

  • อังกฤษ เป็นประเทศหนึ่งที่เผชิญกับปัญหาขยะพลาสติดล้นเมือง เนื่องจากชาวอังกฤษส่วนใหญ่มักใช้พลาสติกที่ใช้แล้วครั้งเดียวมากถึง 3.42 ล้านชิ้นต่อปี โดยมีพลาสติกเพียง 10% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล รัฐบาลจึงประกาศห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองของไทย

นอกจากความเคลื่อนไหวของต่างประเทศแล้ว ด้านประเทศไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้าง Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยไทยกำลังจะออกพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. โลกร้อน ที่จะสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2040 หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับใช้จำเป็นการบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 14 อุตสาหกรรมต้องเผชิญกับต้นทุนในการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ระบบขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบภาษีคาร์บอน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีการบังคับใช้ ประเทศไทยจะเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีก 3 เท่าภายในปี ค.ศ. 2040

พ.ร.บ. ฉบับนี้คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทั้งเชิงอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง และภาคธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนทางอ้อมอย่างการเกษตรและปศุสัตว์ ดังนี้

  1. การจัดทำบัญชี GHG และ CFP (Carbon Footprint of Products) แบบบังคับ ซึ่งในตอนนี้จะมีการจัดทำตามความสมัครใจ โดยต้องทำทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท โดยการประเมิน CFP จะต้องประเมินทุก 2 ปี ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตราการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรืออาจใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้
  2. กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กองทุนฯ) ที่ให้เงินสนับสนุนแก่โครงการลด GHG
  3. กลไกกำหนดราคาคาร์บอน ได้แก่ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) และภาษีคาร์บอน อย่างไรก็ตามการนำ ETS และภาษีคาร์บอนมาใช้เพื่อกำหนดภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ย่อมมีผลกระทบทางรายได้ต่อผู้ประกอบการไม่มากก็น้อย

พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ของไทย ที่ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการเสนอร่างของคณะรัฐมนตรีในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาแบบยั่งยืนและเป็นไปตามโร้ดแม้ป ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์

 อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งข้อบังคับ ข้อกำหนด และข้อตกลงที่ออกโดยรัฐ ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก แต่ในปัจจุบัน อุณหภูมิและระดับของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีวี่แววว่าจะลดลงเลยแม้แต่น้อย

นี่แสดงให้เห็นว่าความพยายามของพวกเราไม่เพียงพออย่างนั้นหรือ?

ความจริงหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ ตามวัฏจักรหนาวสลับอุ่น โลกของเราอยู่ในยุคที่จะอบอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้ในตอนนี้คือ การออกมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น การใช้พลังงานสะอาดอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ, การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด, เดินทางด้วยพาหนะคาร์บอนต่ำ, ลดการบริโภคอาหารเกินความจำเป็น, ใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ และไม่สนับสนุน Fast Fashion ที่เร่งการผลิตก๊าซเรือนกระจก

วิธีที่กล่าวมานี้คือส่วนหนึ่งที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคประชาชนที่เราสามารถทำได้ ซึ่งหวังว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะทำให้พวกเรา และลูกหลานที่เป็นอนาคตของชาติ ยังสามารถอยู่อาศัยบนโลกได้อย่างไม่ลำบากลำบนไปมากกว่านี้

In Association with The Principia

เกี่ยวกับคาร์บอนไวซ์

Carbonwize เป็น One-stop service ให้บริการการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การบริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริการแพลทฟอร์มติดตามก๊าซเรือนกระจก และบริการจัดหาผู้ทวนสอบในระดับประเทศและอินเตอร์เนชันแนล Carbonwize ไม่เพียงช่วยติดตามและจัดทำรายงานตามมาตรฐานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อีกด้วย

แหล่งที่มา : SET, EPPO,  Thai Biz Singapore, NOAA, กรุงเทพธุรกิจ, KReasearch,  BBC, IPCC